ลมจับโปง หมายถึง ลมที่ทำให้เกิด บวม แดง ปวดตามข้อ เกิดได้กับทุกข้อ ที่มีการเคลื่อนไหว มักเกิดกับข้อใหญ่ๆเช่นข้อเข่า ข้อเท้า มี 2 ชนิดคือ จับโปงแห้ง (ปวดแบบแห้งไม่บวมน้ำ และ จับโปงน้ำ (ปวดบวมแดง) ในทางสากลเรียน “ข้อเข่าเสื่อม” เป็นลักษณะอาการที่เกิดจาก การเสื่อมสภาพและสึกหรอของกระดูกอ่อนที่ข้อเข่า มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป เมื่อกล้ามเนื้อบริเวณรอบหัวเข่าที่ช่วยในการพยุงหัวเข่าเกิดความเสื่อมไป หรืออ่อนแอลง ทำให้ภาระในการรับน้ำหนักไปอยู่ที่ข้อเข่ามากขึ้น ยิ่งน้ำหนักตัวมาก ยิ่งส่งผลให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมได้ไวขึ้นกว่าคนที่น้ำหนักตัวน้อยหรือสมส่วน จากสถิติขององค์การอนามัยโลกคาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ ประมาณ 570 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย จะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า
สัญญาณข้อเข่าเสื่อม
- มีอาการปวดข้อเข่า โดยรู้สึกปวด เมื่อย ตึง ที่น่องและข้อพับเข่า
- ข้อเข่าขัด ฝืด ขณะเคลื่อนไหว บางครั้งเจ็บเข่า
- เดินหรือเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ไม่เต็มที่ ไม่ได้องศาปกติ
- ข้อเข่าบวม มีน้ำในข้อเข่า
- มีเสียงดังในข้อเวลาขยับข้อเข่า
- เข่าคดผิดรูปหรือเข่าโก่งออกด้านนอก
หากคุณมีอาการในช่วงข้อที่ 1-3 นั่นบ่งบอกว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะเข่าเสื่อม และควรได้รับการดูแล ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื้อรัง มีอาการเพิ่มมากขึ้นกระทั่งข้อเข่าผิดรูปได้
เคล็ดลับการถนอมข้อเข่า
- ควบคุมน้ำหนัก หากมีภาวะน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ เพื่อลดภาระการแบกรับน้ำหนักของข้อเข่า
- ไม่ใช้งานข้อเข่าอย่างหักโหม เช่น ยกของหนัก นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิเป็นเวลานานๆ กระโดด หรือกระแทกหัวเข่าต่อเนื่อง จากการออกกำลังกายหักโหม เนื่องจากอาจเกิดแรงกดทับหัวเข่าได้
- บริหารกล้ามเนื้อต้นขา และกล้ามเนื้อรอบเข่า เพื่อให้มีความแข็งแรง สร้างความทนทานของกล้ามเนื้อช่วยพยุงข้อเข่า เช่น การทำท่านั่งเก้าอี้ เหยียดขา และดันปลายเท้าขึ้น ค้างไว้ครั้งละ 10 วินาที ทำทั้ง 2 ข้างสลับกันเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อย 30 ครั้ง ช่วยบริหารกล้ามเนื้อต้นขา
- รับประทานอาหารที่ช่วยในการบำรุงข้อ กระดูก สม่ำเสมอและหลากหลาย
อาหารเพื่อการดูแลกระดูกและข้อ
- อาหารที่มีกรดไขมันดี – โอเมก้า-3
อาหารในกลุ่มนี้ที่พบได้บ่อยๆ เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลากระบอก ปลาทู ปลาดุก ปลาช่อน เนื่องจาก กรดไขมันโอเมก้า-3 ในปลามีคุณสมบัติยับยั้งการอักเสบของข้อกระดูกได้ ควรรับประทานสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หรือการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง
- ธัญพืช
ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ถั่ว งา ถั่วต่างๆ อัลมอนด์ ขนมปังโฮลวีต ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง หรือกินงาที่ผ่านการคั่วแล้ว แต่ควรกินปริมาณที่พอเหมาะ กินเป็นอาหารไม่กินปริมาณสูงเนื่องจากพืชตระกูลถั่วมีแคลอรี่สูง
- ผักผลไม้
ผลไม้เช่น กล้วย แอปเปิ้ล ส้ม เชอร์รี สตรอว์เบอร์รี บีท พริกหวานแดง โดยเฉพาะ ผักใบเขียวหลากหลายชนิด ถั่วฝัก กะหล่ำ เป็นแหล่งเบต้า-แคโรทีน แคลเซียม โฟเลต เหล็ก วิตามินซี ช่วยในการบำรุงกระดูก
สมุนไพรทางเลือกช่วยลดอาการปวดข้อ
- ขมิ้นชัน การศึกษาพบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบของข้อในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม (knee osteoporosis) โดยให้ผลดีใกล้เคียงกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมระดับ 2 ถึง 3 ที่ รับประทานยาขมิ้นชัน (มี curcumin 180 มก.) ทุกวันติดต่อกัน 8 สัปดาห์ สามารถลดอาการปวดเข่าได้ตั้งแต่ สัปดาห์แรกสมุนไพรชนิดนี้ เป็นไม้เถาเลื้อย เปลือกเถาเรียบเป็นข้อต่อๆ กัน เถาของเพชรสังฆาตมีลักษณะเหมือนกระดูก เป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายข้อต่อกระดูก มีสรรพคุณในการบำรุงกระดูก แก้ปวด แก้อักเสบ และสารฟลาโวนอยด์ที่ทำให้เส้นเลือดแข็งแรง1
- เถาวัลย์เปรียง สมุนไพรที่หมอยาพื้นบ้านนิยมให้กินแก้กษัย แก้ปวด ขับปัสสาวะ การศึกษาในผู้ป่วยกลุ่มปวด กล้ามเนื้อ ปวดหลังส่วนล่าง และปวดข้ออักเสบ พบว่า เถาวัลย์เปรียงสามารถออกฤทธิ์ลดปวด ลดการอักเสบได้ดีเทียบเท่ากับยาไดโคลฟีแนค โดยมีผลข้างเคียงน้อยกว่า
- งา งาดำอุดมไปด้วยแคลเซียมและสังกะสี จึงเป็นแหล่งแคลเซียมที่สำคัญ เนื่องจากให้แคลเซียมที่สูง กว่านมวัวถึง 6 เท่า จึงสามารถช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เพิ่มมวลกระดูก ป้องกันการเกิดโรคกระดูกเปราะ ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยทองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางอายุรเวทนิยมใช้ งา เป็นยาบำรุงกระดูก และบำรุงข้อ
- ขิง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดปวด แก้คลื่นไส้อาเจียน ขับลม ช่วยย่อย มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน นอกจากระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังถูกนำมาศึกษาในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม พบว่า สามารถช่วยลดปวดข้อเข่าเสื่อมได้ดี เทียบเท่ากับการใช้ยาไอบูโพรเฟน 400 มก. โดยใช้สารสกัดขิงขนาด 500 มก. วันละ 2 ครั้ง
- เพชรสังฆาต นอกจากใช้เพื่อรักษาริดสีดวงทวารแล้ว ยังมีการศึกษาพบว่าเพชรสังฆาต มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดปวด และกระตุ้นเซลล์ที่สร้างมวลกระดูก ทำให้มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น ชะลอความเสื่อมของมวลกระดูก โดยเฉพาะในสตรีวัยทอง
อาหารแสลงที่ควรเลี่ยง
ผู้ที่มีอาการปวดเข่า หรือข้าเสื่อม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหน่อไม้ ยอดผัก เครื่องในสัตว์ อาหารหมักดอง ข้าวเหนี่ยว ของมันๆทอดๆ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เกิดภาวการณ์อักเสบ และส่งเสริมอาการปวดข้อมากขึ้น
หากลองปฏิบัติตามที่แนะนำแล้ว ยังมีอาการปวดข้อหรือมีความผิดปกติของข้อรุนแรง ไม่ควรนิ่งนอนใจ แนะนำให้เข้าปรึกษาแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อเพื่อทำการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้แต่เนิ่นๆนะคะ
—–
ช่องทางติดตามสาระสุขภาพกับอภัยภูเบศร
เฟซบุ๊คถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
ปรึกษาหมอคลินิกออนไลน์ https://lin.ee/47PRVjiFz
——
อ้างอิง