วันนี้ 4 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายภัทรพล ลิ้มภักดี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาแถลงผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาต้นแบบระบบการผลิตที่เหมาะสมด้วยนวัตกรรมและ IoT” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ ผู้จัดการโครงการ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวรายงาน ภายในงานมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานพลังงานจังหวัด ผู้บริหารและตัวแทนจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมการสัมมนาฯ จำนวนกว่า 120 คน
โครงการฯ นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษาดำเนินงานโครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเป็นการนำร่องอุตสาหกรรมต้นแบบและพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการนำระบบการเชื่อมต่อสื่อสารข้อมูลและสั่งการอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ ระบบ Internet of Things มาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งโครงการฯ ได้เปิดรับสมัครโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในกลุ่ม S–Curve, New S-Curve, Second Wave S-Curve หรือ อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้าร่วมโครงการฯ
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ให้การสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ โดยการจัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าประเมินการใช้พลังงาน/ให้คำปรึกษาบื้องต้นเพื่อปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ การให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อร่วมหารือถึงความต้องการพัฒนากระบวนการผลิต แนวทางการเก็บข้อมูลระบบการผลิต, ออกแบบการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดต่าง ๆ (Sensors) พร้อมอุปกรณ์ประกอบ โดยได้ให้การสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมในการติดตั้ง Sensors รวมจำนวนทั้งสิ้น 210 ตัว ชุดแปลงสัญญาณข้อมูล และอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อ/ส่งสัญญาณ Online รวมจำนวนทั้งสิ้น 100 ชุด ซึ่งข้อมูลจากการตรวจวัดต่าง ๆ นี้ ได้ถูกเชื่อมต่อเข้ากับระบบประมวลผลและแสดงผลกลาง หรือ Web–based Application ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาขึ้น และแสดงผลข้อมูลตรวจวัดที่บันทึกได้บนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ Tablet Smart Phone แบบ Real time โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ตรวจวัดได้ และนำมาจัดทำเป็นแนวทางและมาตรการประหยัดพลังงาน/การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด หรือการลดการเกิดของเสียต่าง ๆ จากกระบวนการผลิต เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการต่อไป ภายหลังจากที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ไปแล้วบางส่วนพบว่า มีผลประหยัดพลังงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 800 ตันน้ำมันดิบเทียบเท่าต่อปี (toe/Y) คิดเป็นมูลค่ารวม 13.10 ล้านบาทต่อปี และหากได้ดำเนินการครบทุกมาตการที่ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะจะมีศักยภาพการประหยัดพลังงานรวมทั้งสิ้น 3,900 ตันน้ำมันดิบเทียบเท่าต่อปี (toe/Y) โดยประมาณ คิดเป็นมูลค่ารวม 30.66 ล้านบาทต่อปี
การสัมมนาแถลงผลฯ ในวันนี้ เป็นการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบด้านนวัตกรรม IoT จำนวน 20 แห่ง แบ่งเป็น กลุ่ม S–Curve 2 แห่ง กลุ่ม Second Wave S-Curve 8 แห่ง และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 10 แห่ง โดยภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “ความสำคัญของนวัตกรรม IoT กับการบริหารจัดการกระบวนการผลิตในโลกยุคปัจจุบัน” และกิจกรรม “True 5G IoT” เพื่อเป็นการเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ร่วมกับอุปกรณ์ IoT ของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต
“การพัฒนาระบบ Industrial Internet of Things หรือ IIoT ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครื่องจักรต่าง ๆ รวมกันเป็นโครงข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ และสามารถทำการวิเคราะห์ สื่อสาร สั่งการ เพื่อควบคุมการผลิตให้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ โดยสมบูรณ์ได้นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา เนื่องจากเครื่องจักรแต่ละประเภทมีรูปแบบและระบบโครงสร้างที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงถือเป็นความท้าทายในการพัฒนาระบบและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองให้ทันต่อความต้องการที่รวดเร็ว ผันผวน และสามารถเผชิญกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Disruptive Technology) ได้ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่มีความท้าทายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยเช่นเดียวกัน ในการที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ แก่โรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ในการปรับตัวไปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factory ตามแนวทางของ Industry 4.0 ต่อไป” นายภัทรพล ลิ้มภักดี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว
……………………………………..