สาระสุขภาพ : โรคนิ้วล็อค (Trigger Finger)

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนิวล็อคมักจะมาด้วยอาการเจ็บที่ฝ่ายมือตรงบริเวณใต้โคนนิ้วมือ หากเป็นมากขึ้นจะพบว่า จะมีอาการสะดุดเวลากำ-เหยียดนิ้วมือได้ โดยอาการของโรคมักพบมากหลังจากตื่นนอนตอนเช้า หรือตอนที่ใช้งานมือหนัก

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อค

เกิดจากอาการปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่นิ้วมืออักเสบ ซึ่งสาเหตุหลักของโรคมาจากปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่มีชื่อว่า A1pulley ซึ่งเมื่อเกิดการอักเสบขึ้น จะทำให้เกิดการล็อคระหว่างเส้นเอ็นที่มีหน้าที่งอนิ้วมือกับปลอกหุ้มเส้นเอ็นทำให้ขยับนิ้วมือได้ยากขึ้นและมีอาการเจ็บบริเวณนั้นได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนิ้วล็อค

1.ใช้งานนิ้วมือที่หนักเกินไป

2.การใช้งานนิ้วมือในท่าทางเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน

3.พฤติกรรมที่พบบ่อยแล้วทำให้เกิดอาการนิ้วล็อค เช่น การใช้มือบีย-นวด , ถือของหนัก , การใช้นิ้วมือเกี่ยวถุงพลาสติก หรือหิ้วกระเป๋าหนัก ๆ

4.กลุ่มพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้งานนิ้วมือหยิบจับของชิ้นเล็กๆ หรือทำงานเดิมๆ ซ้ำๆ

5.ที่เริ่มพบมากขึ้นในปัจจุบันคือ การเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ ก็สามารถทำให้เกิดโรคนิ้วล็อคขึ้นได้

ความรุนแรงของโรคนิ้วล็อค แบ่งเป็น 4 ระดับดังนี้

1.มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ

2.มีอาการสะดุดเวลากำ-เหยียดนิ้วมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้เอง

3.กำมือแล้วเกิดอาการล็อค ไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องใช้มือมาช่วยง้างออก

4.ไม่สามารถกำมือได้สุด และอาจจะมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วยได้

การรักษาโรคนิ้วล็อค แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน โดยมีรายละเอียดของวิธีรักษาแต่ละขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการร่วมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ และนำมือแช่น้ำอุ่นหลังจากตื่นนอนตอนเช้าเป็นเวลานาน 5 นาที ทำการบริหารนิ้วมือ ร่วมกับการใช้ยาแก้ปวดและลดอักเสบตามอาการ

2.การฉีดยาลดการอักเสบเฉพาะที่เข้าไปบริเวณ A1 pulley ซึ่งยาที่ใช้นั้นเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งต้องใช้ด้วยความระมัดระวังภายใต้ความดูแลของแพทย์ เนื่องจากผลข้างเคียงที่ร้ายแรงที่สุดที่พบได้ก็คือ อาจทำให้เส้นเอ็นเปี่อยและขาดเองได้

3.การผ่าตัดเข้าไปตัด A1 pulley ร่วมกับเลาะเนื้อเยื่ออักเสบที่หุ้มเส้นเอ็นออก ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีสุดท้ายที่ใช้ในการรักษา จะช่วยลดอาการปวดและทำให้เส้นเอ็นขยับได้คล่องขึ้น ไม่มีอาการสะดุดเวลาใช้งาน โดยการผ่าตัดแบบนี้ใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่คล้ายกับการถอนฟัน ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการหลังจากผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วนิ้วมือสามารถขยับได้ทันทีตั้งแต่หลังผ่าตัดเสร็จ

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ

ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์