ครม. ไฟเขียวโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยจ้างงานนักศึกษา

ครม. ไฟเขียวโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยจ้างงานนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ ประชาชนในพื้นที่ 60,000 คนทำงานใน 3 พันชุมชน ลดความยากจนแบบมีเป้าหมาย ใช้ 20 อัตราต่อตำบล ได้เงินเดือนแถม ได้รับการพัฒนาทักษะ 4 ด้าน คือ ดิจิตอล การเงิน สังคม อังกฤษ เตรียมยกระดับ750 ตำบลที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมสู่ตำบลยั่งยืน

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ตามที่ อว. เสนอ โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดความยากจนแบบมีเป้าหมาย ในระยะแรกจะดำเนินการในพื้นที่ 3 พันตำบลทั่วประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัย 73 แห่ง ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในแต่พื้นที่ งบประมาณรวม 10,629,600,000 บาท ทั้งนี้ ในการดำเนินการในพื้นที่จะเป็นไปตามบริบท สภาพปัญญา สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สำคัญของแต่ละพื้นที่ โดยจะเป็นการนำองค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมของมหาวิทยาลัย หน่วยงานภายใน อว. และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนไปช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในตำบล อาทิ การสร้างและพัฒนาอาชีพใหม่ การส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น สุขภาพ การศึกษา และความปลอดภัยในชุมชน การฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

รมว.อว. กล่าวต่อว่า สำหรับการจ้างงาน จะมีการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ ประชาชนในพื้นที่และนักศึกษารวมทั้งโครงการจะมีการจ้างงานไม่น้อยกว่า 60,000 คน โดยจะมีการจ้างงาน 20 อัตราต่อตำบล เพื่อช่วยในกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ของแต่ละตำบล โดยผู้ที่ได้รับการจ้างงานจะได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านดิจิตอล ทักษะด้านการเงิน ทักษะด้านสังคมและภาษาอังกฤษ ควบคู่ไปกับทักษะเฉพาะด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในพื้นที่

“เป้าหมายของโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย คือการยกระดับตำบลที่มีความพร้อมสูงไปสู่ระดับความยั่งยืน ประมาณ 750 ตำบลหรือ 25 เปอร์เซ็นต์ของตำบลในโครงการที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ยกระดับตำบลที่มีความพร้อมปานกลางไปสู่ระดับความพอเพียง ประมาณ 1,500 ตำบลหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ของตำบลโครงการที่มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองในระดับหนึ่งจากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่และมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่ตำบลที่มีความยั่งยืน” ดร.เอนก กล่าว

……………………………………….