วันที่ 2 ตุลาคม 2563 ณ ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติครั้ง 4/2563 เพื่อพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. ของประเทศไทย โดยมีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยสาระสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายและหน่วยงานกลางบูรณาการนโยบายและแผนกิจการอวกาศพัฒนากิจการอวกาศให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ยุคใหม่ของกิจการอวกาศ หรือ New Space Economy ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พรบ.กิจการอวกาศ โดยให้รับข้อสังเกต ข้อคิดเห็น จากที่ประชุมไปปรับปรุงเพื่อให้กฏหมายมีความรัดกุมยิ่งขึ้น และให้กระทรวง อว. โดย GISTDA เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ GISTDA จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. … โดยที่กฎหมายอวกาศฉบับนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีนโยบายรองรับในการเข้าใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ ที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์สากลตามที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้ และสามารถขับเคลื่อนการดำเนินกิจการอวกาศของประเทศให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งมีศูนย์บริการรับคำขอและชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุญาตต่าง ๆ ด้านอวกาศ พร้อมทั้งผลักดัน อุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การให้บริการสถานที่ส่งหรือสถานที่ลงจอดวัตถุอวกาศ หรือ Spaceport การสร้าง ออกแบบ ผลิตดาวเทียม การท่องเที่ยวในอวกาศ การทำเหมืองแร่ในอวกาศ รวมทั้งการสำรวจ วิจัยการทดลองในอวกาศดวงจันทร์และดาวเคราะห์ การสร้างอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียม และการให้บริการระบบโทรเวชกรรมผ่านดาวเทียม เป็นต้น
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบใน (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. ของประเทศไทย โดยหลังจากนี้ GISTDA จะรับข้อสังเกต และข้อคิดเห็นต่างๆ จากที่ประชุมไปปรับปรุงเพื่อให้กฏหมายมีความรัดกุมยิ่งขึ้น จากนั้นถึงจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเข้าสู่กระบวนการการพิจารณาของสภาเพื่อประกาศใช้เป็นกฏหมาย ที่จะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางเทคโนโลยี และความยั่งยืนของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศเข้ามามีบทบาทและส่วนสำคัญกับชีวิตประจำวันของประชาชน ตลอดจนการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศในระดับโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงกิจกรรมอวกาศของประเทศไทยที่มีพื้นฐานความพร้อม จากการศึกษาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากกว่า 35,600 กิจการ ซึ่งแบ่งเป็นร้อยละ 95 เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเป็น Startup และกิจการต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางต่อเศรษฐกิจ และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาท ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ทางกฏหมายและองค์กรเพื่อรองรับกิจการอุตสาหกรรมอวกาศเหล่านี้ ที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศและความต้องการของภาครัฐ และเอกชนที่จะต้องการใช้ประโยชน์จากอวกาศมากขึ้น รวมถึงรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนและการพัฒนาประเทศไทยของเรา
………………………………………………………………………….