สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กวาด 4 รางวัลจากเวทีมิวเซียมไทยแลนด์อวอร์ด 2020 อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร คว้า “รางวัลดีเด่นด้านกระบวนการเรียนรู้” คู่รางวัล “พิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน” ส่วนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา คว้าพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชนต่อเนื่องเป็นปีที่สอง และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ติด 1 ใน 10 พิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน เช่นเดียวกัน ตอกย้ำความมุ่งมั่นการสร้างสรรค์พื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับทุกเพศ ทุกวัย เปิดประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจอย่างไร้ขีดจำกัด
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สดร. ได้รับรางวัลจากมิวเซียมไทยแลนด์อวอร์ด ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ปีนี้ มีแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ของ สดร. จำนวน 3 แห่ง ได้รับรวม 4 รางวัล ประกอบด้วย อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ คว้ารางวัล “พิพิธภัณฑ์ดีเด่นด้านกระบวนการเรียนรู้ สาขาพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม” และ “รางวัลพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน” ในขณะที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา คว้าพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชนต่อเนื่องเป็นปีที่สอง และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ติด 1 ใน 10 พิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน เช่นเดียวกัน
ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” ที่ได้รับเลือกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ดีเด่นด้านกระบวนการเรียนรู้ สาขาพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แม้จะเพิ่งเปิดทำการเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา แต่ก็มีเยาวชนและประชาชนจำนวนมากสนใจเดินทางมาเยี่ยมชม ด้วยเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ครบวงจรแห่งแรกที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ จัดแสดงนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ มีท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล และยังมีหอดูดาวสำหรับบริการประชาชน ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กสำหรับจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ตลอดทั้งปี ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใคร เราเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เยี่ยมชม นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง สำหรับการเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรม ส่งผลให้อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรเป็นศูนย์การศึกษา ค้นคว้าวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีของดาราศาสตร์ของประเทศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สถานที่แห่งนี้นั้นเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง จึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาเยี่ยมชม เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่เข้มข้น ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของเรา
รางวัลเหล่านี้เป็นผลจากความมุ่งมั่นตั้งใจของ สดร. ในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมทางดาราศาสตร์มาโดยตลอด ขอขอบคุณคณะกรรมการที่พิจารณามอบรางวัลนี้ให้ และขอขอบคุณแรงสนับสนุน และกำลังใจจากประชาชนที่แวะเวียนมาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ของ สดร. ทุกแห่ง ทั้งนี้ สดร. จะเดินหน้าสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ทั้งการจัดแสดงนิทรรศการและการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ รวมถึงพัฒนาคน ทั้งบุคลากรภายในองค์กรที่เป็นผู้ให้บริการ และบุคคลภายนอกที่เข้ามาร่วมในกระบวนการเรียนรู้กับเรา เพื่อวางรากฐานดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้หยั่งลึกลงบนแผ่นดินไทยต่อไป ดร. ศรัณย์ กล่าวปิดท้าย
สำหรับพิธีมอบรางวัลจัดขึ้นในวันที่ 17 กันยายน 2563 ณ ซี อาเซียน ออดิทอเรียม อาคารไซเบอร์เวิลด์ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เป็นผู้รับมอบรางวัลจากนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ
รางวัลมิวเซียมไทยแลนด์อวอร์ด จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 เป็นรางวัลที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หน่วยงานภายในของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี มอบให้แก่พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น เพื่อกระตุ้นให้พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในประเทศไทยเกิดความตื่นตัวในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีทั้งคุณภาพของการบริการและมาตรฐานตามแบบสากล แบ่งหมวดหมู่พิพิธภัณฑ์เป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม พิพิธภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น และในแต่ละประเภทจะพิจารณาความดีเด่นของพิพิธภัณฑ์ 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ ด้านการสื่อความหมายและสร้างประสบการณ์ ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน ด้านการอนุรักษ์และสืบสาน โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “จากรากสู่โลก” กล่าวคือ พิพิธภัณฑ์ต้องเปรียบเสมือนรากของต้นไม้ เข้าใจในตัวตนหรือแก่นของตนเองว่าเกี่ยวข้องกับอะไร รู้ว่าจะเล่าเรื่องใดสู่ประชาชน จากนั้นจึงแตกกิ่งก้านขยายองค์ความรู้ไปยังคน ชุมชน ประเทศชาติ และสามารถเชื่อมโยงไปกับการเรียนรู้ในทุกระบบ
นอกจากนี้ ยังมีรางวัล “พิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน” เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมโหวตพิพิธภัณฑ์ที่ชื่นชอบผ่านทางเว็บไซต์ www.museumthailand.com เพื่อส่งกำลังใจและเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับผู้ที่ทำงานในวงการพิพิธภัณฑ์ต่อไป
………………………………………….