กศน. เตรียมความพร้อม สู้สอบปลายภาคด้วย Test Blueprint

นายณัฐพงษ์ นวลมาก รองเลขาธิการ กศน. รักษาการเลขาธิการ กศน. เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงาน กศน. ได้จัดทำเวทีประชาพิจารณ์เพื่อระดมความคิดเห็นของนักศึกษา กศน.เรื่องความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการศึกษา กศน. ขึ้นใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเวทีแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ในการลงพื้นที่ติดตามงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2563 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ของ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ กศน.ตำบลพนานิคม อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียน กศน.ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี รวมทั้งใน 5 จังหวัดภาคตะวันออก จากนั้นได้มีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อระดมความคิดเห็นของนักศึกษา กศน. ในประเด็นดังกล่าวตามมาเป็นลำดับ ในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563  ณ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดสุพรรณบุรี  ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ วันที่ 29 สิงหาคม 2563 ณ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดยสถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ (สถาบัน กศน.ภาคเหนือ)  ในกลุ่ม 14 จังหวัดภาคใต้ วันที่ 4 กันยายน 2563  ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ตซิตี้ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และในกลุ่ม 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 11 กันยายน 2563 ณ สถาบัน กศน.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีผู้แทนนักศึกษาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มนักศึกษาปกติ นักศึกษาพิการ นักศึกษาที่เป็นเด็กเร่ร่อน ประชาชนที่เข้ารับบริการการเรียนรู้อาชีพ และผู้รับบริการการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,031 คน เข้าร่วมการประชาพิจารณ์

นายณัฐพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการรับฟังความเห็นจากกิจกรรมดังกล่าว พบว่ามีนักศึกษาบางส่วนให้ความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องความยากง่ายของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ปลายภาคเรียนในรายวิชาบังคับและรายวิชาเลือกบังคับ ซึ่งเป็นข้อสอบกลาง และเพื่อเป็นการตอบโจทย์ความต้องการและความคิดเห็นดังกล่าว  ด้วยประการนี้ จึงได้มอบหมายให้ กลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ สำนักงาน กศน. ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์คุณภาพแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ปลายภาคเรียนในรายวิชาบังคับและรายวิชาเลือกบังคับ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา 5 ภาคเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาระความรู้พื้นฐาน ประกอบด้วยรายวิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นรายวิชาที่นักศึกษา มักทำคะแนนได้น้อย  ผลปรากฏว่าคุณภาพแบบทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่น รายฉบับ หรือความยากง่ายรายข้อในแต่ละระดับการศึกษานั้น  โดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี  มีค่าระหว่าง 0.2 – 0.8 ซึ่งส่วนใหญ่มีระดับความยากน้อยถึงปานกลาง ทั้งนี้วิเคราะห์ได้จากค่าผลคะแนนจริงของผู้เรียนที่ผ่านมา โดยสถานศึกษาและครู ควรทำความเข้าใจแก่ผู้เรียน กศน. ให้คลายความกังวลเรื่องความยากง่ายของแบบทดสอบปลายภาคเรียน เพราะหากครูและผู้เรียนยึดผังการออกข้อสอบ หรือ Test Blueprint ของส่วนกลาง ได้มีการเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ www.nfe.go.th/nfetesting เป็นแนวทางในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมของผู้เรียนก่อนสอบปลายภาคเรียนแล้ว เชื่อมั่นว่านักศึกษาทุกคนจะต้องสอบผ่าน และได้คะแนนอย่างน้อย 30% ของการสอบปลายภาคเรียนอย่างแน่นอน ซึ่งภาคเรียนที่ผ่านมานั้น มีผู้สอบผ่าน 30% คิดเป็นร้อยละ 73.31 ของผู้เรียนทั้งหมดทั่วประเทศ

…………………………………………….

สำนักงาน กศน.