อว.สนับสนุนบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย

21 กันยายน 2563 : ศ.(พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ผศ.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รศ.บัณฑิต ทิพากร ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และคณะทำงาน ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New growth engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมระบบราง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวในที่ประชุมว่า การดำเนินการโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่คือการที่จะยกระดับคุณภาพของนักศึกษาให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน หลังจากที่นักศึกษาเรียนจบแล้วต้องสามารถทำงานได้ มีทั้งความรู้ ทักษะ สมรรถนะอย่างสูง ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ตลาดแรงงาน และไทยแลนด์ 4.0 โดยให้มหาวิทยาลัยดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน หรือภาคผู้ประกอบการ โดยมีข้อบังคับว่าจะต้องให้นักศึกษาเรียนในสถานที่จริงของภาคผู้ประกอบการ อย่างน้อย 50% ของการเรียนในหลักสูตร เพราะต้องการให้นักศึกษาได้ปฏิบัติจริง ได้เรียนรู้จากการทำงาน โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาร่วมให้คำแนะนำในการปฏิบัติงาน และมีผู้เชี่ยวชาญของผู้ประกอบการร่วมสอนด้วย

“เราต้องการที่จะยกระดับคุณภาพบัณฑิตให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน มิใช่แค่เรียนรู้ แต่ต้องปฏิบัติได้ด้วย เน้นเรื่องการบ่มเพาะทักษะสมรรถนะตามศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องเรียนจากการทำงานจริงไม่ใช่แค่ในห้องเรียน โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีมีหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่หลายหลักสูตรทั้งที่เป็นหลักสูตรในระดับปริญญา (Degree) และหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) สำหรับการตรวจเยี่ยมในวันนี้เป็นการลงพื้นที่ติดตามการฝึกปฏิบัติของนักศึกษาว่าได้เรียนรู้ในสถานประกอบการอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคใดบ้างที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหรืออำนวยความสะดวกให้การเรียนในหลักสูตรดังกล่าวนี้ดีขึ้นได้” ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวในตอนท้าย

นักศึกษาที่ฝึกทักษะอาชีพร่วมกับสถานประกอบการนี้เป็นนักศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาระบบราง (ต่อเนื่อง) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จำนวน 15 คน โดยได้เข้าฝึกปฏิบัติงานกับกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ไออาร์ทีวี ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับจ้าง ทอท.ในการติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover หรือ APM) รวมถึงงานซ่อมบำรุงที่เกี่ยวข้องในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ซึ่งขณะนี้การดำเนินงานลุล่วงไปแล้วมากกว่า 70 เปอร์เซ็น โดยนักศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวจะต้องเข้าฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตลอดชั้นปีที่ 2 ซึ่งทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ที่ดีในการฝึกงาน ได้ลงมือปฏิบัติงานจริง ในสถานที่จริง สามารถคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบซึ่งจะผลดีต่อคุณภาพบัณฑิตและคุณภาพแรงงานในอนาคต

………………………………………………………………..