รมว.ศธ. ย้ำทุกความคิดเห็นของนักเรียนรับมาพิจารณาและแก้ไข สอดคล้องกับแนวคิดในแผนปฏิรูปการศึกษา

รมว.ศธ. ย้ำทุกความคิดเห็นของนักเรียนรับมาพิจารณาและแก้ไข สอดคล้องกับแนวคิดในแผนปฏิรูปการศึกษา ส่งสาร ผอ.สถานศึกษาทั่วประเทศ เปิดรับฟังข้อคิดเห็นและสร้างความเข้าใจต่อเนื่อง เผยจังหวะนี้ ควรสร้างโอกาสทางการแข่งขัน หลังไทยได้เปรียบรับมือโควิด-๑๙ ได้ดีสุดลำดับต้นๆ

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ในช่วง ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังจากได้เปิดช่องทางรับข้อเรียกร้อง ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของนักเรียน ผ่านเว็บไซต์ www.nataphol.com และช่องทางอื่นๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ ทุกประเด็นทางกระทรวงศึกษาธิการถือเป็นเรื่องต้องรับมาพิจารณาและดำเนินการ

 

“ทุกเรื่องที่น้องๆ เสนอเข้ามาในทุกช่องทางที่ผมเปิดไว้ ผมได้รับรู้และรับทราบทุกข้อ และในหลายๆ เรื่อง ผมได้เรียกให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับทราบข้อมูลและให้ดำเนินการแก้ไขเป็นการเร่งด่วน ซึ่งบางเรื่องได้ดำเนินการไปแล้ว และบางเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการ ผมมีความชัดเจนที่ต้องการรื้อระบบการศึกษา ซึ่งหลายเรื่องกว่าจะมีผลสำเร็จต้องใช้ระยะเวลา แต่ขอให้น้องๆ มั่นใจว่า ผมเห็นด้วยกับทุกๆ ฝ่าย ที่ต้องมีการรื้อระบบการศึกษาไทย ให้สอดคล้องกับทศวรรษที่ ๒๑” นายณัฏฐพลกล่าว เช่นเดียวกับการยกเลิกการสอบ O-NET ในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในปีนี้ ตนได้เรียกสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มาพูดคุย และให้ร่วมหารือกับคณะกรรมการ สทศ. เพื่อสรุปแนวทางปฏิบัติ รวมถึงแก้ไขข้อติดขัดต่างๆ หากมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการสอบ แต่ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์การวัดผลอื่นๆ มาทดแทนด้วย ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีการยกเลิกการสอบในบางระดับชั้นหรือทุกชั้นหรือเลือกที่จะสอบ

นายณัฏฐพลกล่าวว่า สำหรับช่องทางการสำรวจ ซึ่งเปิดให้มีการโหวตผ่าน www.nataphol.com ปรากฏว่า ในเบื้องต้นมีผู้เข้ามาร่วมโหวตมากกว่า ๒๐,๐๐๐ โหวต ซึ่งเสียงโหวตส่วนใหญ่กว่า ๘๐% แสดงความคิดเห็นต้องการให้ยกเลิก O-NET

ส่วนปัญหาการคุกคาม รวมถึงการถูกครูล่วงละเมิดทางเพศ ที่มีการเรียกร้องนั้น รมว.ศธ. ย้ำว่า ตนเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เป็นอย่างมาก ซึ่งนับตั้งแต่การเปิดศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) สายด่วน ๑๕๗๙ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และ เว็บไซต์ www.nataphol.com มีประโยชน์ต่อผู้ถูกกระทำ เพราะมีการร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก และการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ ศธ. ได้ดำเนินการเอาผิดผู้กระทำความผิดได้ทันท่วงที และไล่ออกไว้ก่อน พร้อมยกเลิกใบประกอบวิชาชีพครู รวมแล้วกว่า ๑๖ กรณี จากอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีการดำเนินการแต่อย่างใด รวมถึงการคุกคามด้านอื่นๆ ในโรงเรียนก็ต้องให้มีความเข้มข้น “โรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยจากการคุกคาม”

นายณัฏฐพล ย้ำอีกว่า การแก้ไขปัญหาในทุกๆ เรื่องนั้น สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับน้องๆ นักเรียนและอีกหลายภาคส่วน และตนเชื่อมั่นว่า น้องๆ นักเรียนจะเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมด้านปฏิรูปด้านการศึกษาไทยจนเกิดผลสำเร็จ

“ทุกการร้องเรียน ผมจะเก็บเป็นความลับ ขอให้ทุกคนมั่นใจ ผมเชื่อว่าข้อเรียกร้องของน้องๆ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยในวันนี้ น้องๆ ยังคงสามารถใช้ช่องทาง nataphol.com และช่องทางของ ศธ. ได้ โดยส่วนตัวเชื่อว่า น้องๆ อาจไม่ได้คิดที่อยากจะออกไปชุมนุมด้วย เพราะข้อเรียกร้องที่มานั้นได้รับการแก้ไขแล้ว และบางเรื่องก็อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ”นายณัฏฐพลกล่าวว่า ตนได้เน้นย้ำไปยังผู้อำนวยการสถานศึกษาทั่วประเทศ ให้เปิดรับฟังข้อร้องเรียน พร้อมทำความเข้าใจกับน้องๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมเสริมว่า ประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศในขณะนี้ คือเรื่องปากท้องของประชาชน และปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถือเป็นลำดับต้นๆ ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ และร่วมมือกันแก้ไขอยู่ในขณะนี้

“ดังนั้น ในช่วงนี้ เราควรสร้างโอกาสและข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ในสถานการณ์ที่ไทยอยู่ในจุดที่ได้เปรียบกรณีการรับมือจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ เพราะไทยเป็นประเทศที่อยู่ในลำดับต้นๆ ในการรับมือได้ดีที่สุด ซึ่งนี่คือจุดแข็งของไทย ที่นานาประเทศให้ความชื่นชม”

ทั้งนี้ภายหลังจากนายณัฏฐพลได้มอบนโยบายให้ สพฐ. สั่งการให้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน มีโรงเรียนทั้งสิ้น ๑,๐๑๕ โรงเรียน ใน ๔๗ เขตพื้นที่การศึกษา มีนักเรียนร่วมแสดงความคิดเห็นรวม ๒๙,๕๘๔ คน โดยแบ่งเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นระดับชั้นประถมศึกษาใน ๑๘ เขตการศึกษา ๑๗๖ โรงเรียน มีนักเรียนร่วมแสดงความเห็น ๒,๒๑๔ คน เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นระดับชั้นมัธยมศึกษาใน ๒๙ เขตการศึกษา จำนวน ๘๓๙ โรงเรียน นักเรียนแสดงความเห็น ๒๗,๓๔๔ คน รวมถึงโรงเรียนเฉพาะทาง ๔๘ แห่ง ศูนย์การศึกษาพิเศษ ๗๗ ศูนย์ และโรงเรียนสงเคราะห์อีก ๕๒ แห่ง

โดยประเด็นที่มีการแสดงความเห็นเป็นหัวข้อเดียวกันกับการชุมนุมของเด็กนักเรียนที่ผ่านมา ได้แก่ ปัญหาด้านการเรียนการสอน ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำในระบบ การแข่งขันของคุณครูที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน ไม่เห็นด้วยกับการสอบ O-NET เนื่องจากบริบททางการศึกษาของแต่ละโรงเรียนและแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ปัญหาด้านเครื่องแบบนักเรียน และทรงผม ปัญหาการใช้พฤติกรรมรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจาและร่างกาย รวมถึงการปรับปรุงสภาพโรงเรียนให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ส่วนการแสดงออกทางความคิดเห็น ต้องการให้ผู้ใหญ่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นในมุมที่แตกต่าง เนื่องจากความแตกต่างระหว่างวัย ประสบการณ์ และทัศนคติ