การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเคหะแห่งชาติได้คัดเลือกโครงการนำร่องเพื่อเข้าร่วมโครงการฉลากประสิทธิภาพสูงสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย หรือโครงการบ้านเบอร์ 5 ซึ่งผ่านเกณฑ์การคัดเลือกทั้งหมด 8 โครงการ ประมาณ 1,871 หน่วย
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับที่อยู่อาศัย (บ้านเบอร์ 5) ว่า เป็นโครงการที่การเคหะแห่งชาติและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้มีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยมีมาตรฐานการออกแบบที่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง และกำหนดวิธีการตรวจประเมิน รวมถึงให้การรับรองแบบก่อสร้างและติดฉลากรับรองระดับประสิทธิภาพพลังงานบ้านที่อยู่อาศัยเบอร์ 5 ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งมิติในพัฒนาและส่งเสริมที่อยู่อาศัยที่มีคุณสมบัติประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย ทั้งยังสอดคล้องกับภาพรวมทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับปี 2561 การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินออกแบบก่อสร้างโครงการนำร่อง 8 โครงการ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาปรับเปลี่ยนวัสดุเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ประสิทธิภาพเบอร์ 5 จากคณะกรรมการพิจารณาโครงการการเคหะแห่งชาติ ประกอบด้วย โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.ชลบุรี (บ่อวิน) ระยะที่ 2 โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.บุรีรัมย์ 2 โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.ปทุมธานี (รังสิตคลอง 5) โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.จันทบุรี โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.สระบุรี (บ้านสวนปากเพรียว) โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.ขอนแก่น (เมืองเก่า – กรีนวิลล์ ขอนแก่น) ระยะที่ 2 โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.พระนครศรีอยุธยา (บางปะอิน) ระยะที่ 2 และโครงการประชานิเวศน์ 3 โดยมีตัวแปรที่นำมาประเมินค่าเกณฑ์ประสิทธิภาพ 5 ตัวแปร คือ การถ่ายเทความร้อนที่เข้ามาจากผนังด้านนอกสู่ตัวอาคารในพื้นที่ส่วนตัวที่มีการปรับอากาศ (OTTV) ค่าการถ่ายเทความร้อนที่เข้ามาจากหลังคาด้านบนสู่ตัวอาคารในพื้นที่ส่วนที่มีการปรับอากาศ (RTTV) ค่าการใช้พลังงานของระบบส่องสว่างเปรียบเทียบกับพื้นที่ใช้สอย (LPD) ค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานของระบบปรับอากาศในอาคาร (A/C) ค่าการใช้พลังงานรวมของตัวอาคาร (Energy) ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้รับรองแบบการก่อสร้างดังกล่าว โดยได้ออกหนังสือรับรองการติดฉลากเบอร์ 5 ให้กับการเคหะแห่งชาติแล้ว รวมถึงจะนำแบบบ้านเบอร์ 5 ไปขยายผลก่อสร้างตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) ซึ่งจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รวมถึงรงณรงค์และส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม