กสศ. ลงนามความร่วมมือ10 สถาบันผลิตและพัฒนาครูโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 “ร่วมมือ ร่วมใจ สร้างครูรุ่นใหม่หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น” ให้เป็นครูยุค 4.0

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ที่โรงแรม ที เค พาเลซ (แจ้งวัฒนะ) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำโดย นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กสศ. และ ผศ.ดร.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล ผู้จัดการโครงการฯ ร่วมลงนามความร่วมมือกับ10 สถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 ด้วยแนวคิด ร่วมมือ ร่วมใจ สร้างครูรุ่นใหม่หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น ใน โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กสศ. กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 กสศ. ได้คัดเลือกสถาบันการผลิตครูที่เชื่อมั่นว่ามีศักยภาพ เหมาะสมที่จะผลิตครูตามเป้าหมายได้ทั้งสิ้น 10 สถาบัน ซึ่ง กสศ. มีเกณฑ์คัดเลือกที่ชัดเจน คือ ต้องเป็นสถาบันที่อยู่ในภูมิภาคที่เด็กสามารถมาเรียนได้ ไม่ห่างไกล และต้องเข้าใจภูมิหลังและบริบทของชุมชม นอกจากนี้ ในรุ่นที่ 2 กสศ. มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่ไปดูบริบทและสภาพจริงของทุกมหาวิทยาลัยที่ผ่านการพิจารณามากขึ้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภูมิภาคเข้ามาร่วมพิจารณาทุกสถาบันเพื่อความเป็นธรรม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างสถาบันทั้งที่ได้รับคัดเลือก และไม่ได้รับคัดเลือก เพื่อให้สถาบันที่ไม่ผ่านเข้าร่วมโครงการในปีนี้ได้รู้ข้อบกพร่องและพัฒนาตนเองในปีถัดไป

“เกณฑ์การพิจารณาสถาบันที่ผ่านเข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 กสศ. ให้น้ำหนักลงไปที่การดูสภาพจริงเพิ่มขึ้นจากโครงการที่มหาวิทยาลัยเขียนส่งเข้ามาให้พิจารณา ทำให้เจอปัญหาบางสถาบันเขียนโครงการดีมาก พอลงไปดูสภาพจริงไม่เป็นไปตามแบบโครงการ เราเห็นความไม่สอดคล้อง ความไม่ทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัยกับอาจารย์คณะที่จะดำเนินการ บางแห่งเขียนโครงการมาไม่โดดเด่น แต่ลงไปดูแล้วโดดเด่น เพราะฉะนั้นสภาพจริงจึงมีความสำคัญกว่า”  รศ.ดร.ดารณี กล่าว

รศ.ดร.ดารณี กล่าวว่า ปีนี้ กสศ. ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย อดีตผู้อำนวยการเขต ศึกษานิเทศก์ อดีตผู้อำนวยการท้องถิ่นมาช่วยกันลงพื้นที่ไปประเมินและพิจารณา คณะกรรมการต้องดูตั้งแต่ความพร้อมของหลักสูตรและสถานที่ การทำงานเป็นทีมต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมถึงสัมภาษณ์นักศึกษาปัจจุบันและบัณฑิตที่จบไปแล้ว ซึ่งกลยุทธ์ความเชี่ยวชาญและความชำนาญการของผู้ทรงคุณวุฒิจะมองออกว่าจากผลผลิตกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการมีจุดเด่นหรือจุดด้อยอย่างไร เพราะฉะนั้นกระบวนการคัดเลือกสถาบันการศึกษา กสศ. ทำด้วยความรอบคอบ เพราะเรามีความเสี่ยงหลายอย่างในการทำงาน การลงทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นมีมูลค่าสูง กสศ. จึงต้องการบัณฑิตคุณภาพสูงเข้าไปทำงานตรงกับหน่วยงานด้วย

รศ.ดร.ดารณี กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ สถาบันผลิตครูทั้ง10แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี , มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม , มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี , มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา , มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี , มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ต้องลงพื้นที่ไปค้นหาเด็กที่จะมาเรียนครูตามเกณฑ์ที่ กสศ. กำหนด ตามปัจจัยขั้นพื้นฐาน คือ 1. ปัจจัยด้านความยากจน ต้องมีรายได้เฉลี่ยรายครอบครัวไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน 2. เด็กทุนพร้อมกับผู้ปกครองต้องอยู่ในภูมิลำเนาอย่างน้อย 3 ปี 3. เกรดเฉลี่ยสะสม 5 เทมอ ไม่ต่ำกว่า 2.5 และ 4.ได้รับการค้นหาคัดเลือกโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีเป้าหมายปลายทางที่จะผลิตครูสู่โรงเรียนปลายทาง เพราะฉะนั้นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องมีความเฉพาะเจาะจง นอกจากมาตรฐานกลางแล้ว ต้องมีสมรรถนะเฉพาะของครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นครูยุค 4.0 ที่ต้องเป็นผู้นำชุมชนได้ด้วย สอนได้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับประถมศึกษา สอนได้แบบคละชั้นและทุกสาขาวิชา

“กสศ. มีข้อระมัดระวังเป็นบทเรียนที่ได้จากการเรียนรู้รุ่นที่ 1 ถ่ายทอดไปยังรุ่นที่ 2 ว่ากระบวนการค้นหาอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องลงไปค้นหาเด็กถึงพื้นที่ ไม่ใช่รออยู่มหาวิทยาลัยให้เด็กมาสมัคร โดยมีเป้าหมาย คือ 1.มหาวิทยาลัยต้องไปค้นหาผู้เรียนตัวจริงมา โดยการลงไปทำงานกับท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กับครู 2.เด็กต้องขาดแคลนจริง ต้องไปดูถึงบ้าน ไปสัมภาษณ์พ่อแม่ ศึกษาข้อมูลของเด็กจากชุมชน ให้ผู้นำชุมชน อย่างผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำทางศาสนา มีส่วนร่วมในการพิจารณาคัดเลือก เพราะรู้จักคนในท้องถิ่นดี เพราะฉะนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยลงไปค้นหาเด็ก มหาวิทยาลัยจะรู้บริบทของโรงเรียน รวมถึงครูในโรงเรียนที่เด็กต้องกลับไปบรรจุเป็นครู เมื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยรู้ว่าเราจะผลิตบัณฑิตของเราไปสอนเด็กแบบไหน อาจารย์ก็ต้องถอยมาออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามบริบทของโรงเรียนและท้องถิ่น ซึ่งการสอนระดับปฐมวัยไม่ใช่สอนได้แค่อนุบาล โดยนิยามขึ้นถึงประถมต้น มหาวิทยาลัยก็ต้องปรับหลักสูตร หรือเพิ่มเติมวิชาต่างๆ เพื่อจะให้บัณฑิตที่จบออกไปมีองค์ความรู้ มีทักษะ หรือสมรรถนะที่จะสอนในชั้นประถมศึกษาได้ด้วย“ รศ.ดร.ดารณี กล่าว

ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช รักษาราชการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นในรุ่นที่ 1 มหาวิทยาลัยประสบปัญหาข้อมูลไม่ถึงเด็กและชุมชนที่เข้าไม่ถึงสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้เด็กบางคนที่ควรได้รับการสนับสนุนมากกว่าเสียโอกาส ดังนั้นวิธีที่ข้อมูลจะถึงเด็กได้ดีที่สุดคือโรงเรียนในพื้นที่ต้องให้คำแนะนำกับเด็กโดยตรง มหาวิทยาลัยจึงปรับกระบวนการดำเนินงานเชิงรุกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เรามีฐานข้อมูลเดิมจากปีที่ผ่านมา ทราบพื้นที่ลักษณะของชุมชน รู้จักเครือข่าย โรงเรียน ผู้บริหาร สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือจะมีการประสานข้อมูลไปยังโรงเรียนพื้นที่ก่อน เพื่อให้ทราบหลักเกณฑ์ วิธีการ ให้ข้อมูลกับเด็กที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียนก่อนที่มหาวิทยาลัยจะประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันไม่เกิดปัญหาเด็กมารู้ข้อมูลเชิงลึกทีหลัง ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมามีเด็กถอนตัวในช่วงที่คัดมาอยู่ค่ายแล้ว เพราะไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้

“ เราไม่อยากให้เด็กตัดสินใจสมัครเข้าโครงการเพราะว่ามีทุนอย่างเดียว บางคนเห็นมีเงินสนับสนุน แต่อยากให้เด็กตัดสินใจบนพื้นฐานของความอยากเป็นครูอยู่ในพื้นที่จริงๆ เพราะเด็กต้องทำงานหนัก เรียนไม่เหมือนคนอื่น ต้องเรียนเสริมนอกเวลาเยอะ ซึ่งต่างจากการเรียนทั่วไป เพราะสถาบันต้องการให้เด็กนำประสบการณ์กลับไปเป็นครูเพื่อพัฒนาบ้านเกิด อันนี้เป็นเรื่องที่เด็กต้องรับรู้เพื่อเจตคติที่ดี ถ้าเราได้เด็กที่พร้อมตั้งแต่ต้นมหาวิทยาลัยก็จะพัฒนาต่อได้ง่าย โดยปีนี้มหาวิทยาลัยได้วางระบบให้โรงเรียนปลายทางที่เด็กจะไปบรรจุเป็นครูเมื่อจบหลักสูตรมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและพิจารณาคัดเลือกเด็กมากยิ่งขึ้นเพื่อความชัดเจน ” ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ กล่าว

ดร.วิชญา ผิวคำ อาจารย์ประจำสาขาประถมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 ที่เข้าศึกษาในสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ปีการศึกษา 2563 มีจำนวนทั้งหมด 31 คน  ทางคณะกำลังปรับหลักสูตรใหม่ เน้นการบูรณาการข้ามศาสตร์ โดยร่วมกับคณะอุตสาหกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ออกแบบรายวิชาใหม่ให้เด็กได้เลือกเรียนตามความถนัด ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น มีความสามารถแตกต่างกัน ซึ่งเราได้ผลักดันให้เข้าชมรมตามความชอบ เพื่อคลายความกังวลลดปัญหาคิดถึงบ้าน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Shadow ติดตามเงาของครู นำเด็กลงพื้นที่ชุมชนดูการทำงานของครู เพื่อปลูกฝังการรักถิ่นเกิด การทำงานร่วมกับชุมชนให้มากขึ้น โดยหลอมรวม “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ให้เชื่อมโยงกัน

“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ตอบโจทย์สำหรับเด็กที่ยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษามาก เห็นได้จากการลงพื้นที่สำรวจสภาพความเป็นอยู่ของเด็กมีการค้นหาเด็กอย่างเข้มข้นเข้าถึงตัวเด็กที่ยากจนในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้จากเสียงสะท้อนของผู้ปกครองที่ตัดพ้อว่า ถ้าลูกไม่ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการนี้ จะไม่มีโอกาสเรียนต่อ และศูนย์พัฒนาสังคม ที่มองว่าโครงการตอบโจทย์ได้ดี ชุมชนชนบทจะได้มีครูที่อยู่ในท้องถิ่นจริง ลดปัญหาครูโยกย้าย ทำให้เห็นว่าโครงการนี้สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง หากทำอย่างต่อเนื่องเชื่อว่าการศึกษาของโรงเรียนในชุมชนจะพัฒนาขึ้นมากอย่างแน่นอน” ดร.วิชญา กล่าว

…………………………………………………………………….