( 15 สิงหาคม 2563) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายและร่วมกิจกรรมส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม การปลูกและแปรรูปต้นสาคู ร่วมกับ นักศึกษา กศน. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ศูนย์วิจัยเพื่อการเกษตรพรุโต๊ะแดง กศน. จังหวัดพัทลุง และ กศน. อำเภอทุ่งยางแดง ณ ที่ว่าการอำเภอทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
รมช.ศธ. กล่าวว่า ต้องขอบคุณภาคีเครือข่าย และเยี่ยมชมนิทรรศการด้านอาชีพ ของนักศึกษา กศน. และได้เดินมาดูพื้นที่ป่าสาคูในตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง ต้นสาคูมีลักษณะคล้ายต้นจาก เมื่ออายุ 8 ปี จะมีลำต้นเหมือนมะพร้าว เนื้อในยุ่ย ชาวบ้านมักโค่นทิ้ง และนำไปทำอาหารเลี้ยงสัตว์ ซึ่งตนอยากส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ และอนุรักษ์ต้นสาคูไว้ เพราะคิดว่ามันน่าจะสร้างประโยชน์อะไรได้มากกว่าเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งชาวบ้านโค่นทิ้งไปเกือบหมดแล้ว เพราะใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนักตนจึงมอบหมายให้ กศน. จังหวัดปัตตานี ลองไปศึกษาดูว่าจะอนุรักษ์ไว้ได้อย่างไร สามารถนำไปแปรรูป และทำเป็นผลิตสินค้าอะไรได้บ้าง จนปัจุบัน กศน. จังหวัดปัตตานีร่วมกับภาคีเครือข่าย และภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้เข้าไปศึกษาวิจัยแล้วพบว่าลำต้นสามารถนำมาแปรรูปเป็นเม็ดสาคูได้ ส่วนยอดอ่อนมีลักษณะคล้ายยอดมะพร้าว สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลาย ส่วนลำต้นสามารถนำไปทำอาหารเลี้ยงด้วงได้ ซึ่งด้วงเป็นอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน กศน. จึงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตเม็ดสาคูจากต้นสาคูและจัดจำหน่ายจนเป็นสินค้าที่นิยมภายใต้แบรนด์ “ONIE” ซึ่งสามารถขยายตลาดได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ตนได้มอบหมายให้ กศน. จังหวัดปัตตานี สอนให้ชาวบ้านเปิดตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางขายผลิตสาคู
หลังจากนั้นได้ไปตรวจเยี่ยมการอบรมลูกเสือมัคคุเทศก์ ณ ค่ายลูกเสือชั่วคราว กศน. อำเภอเมืองฯ จังหวัดปัตตานี โดยลูกเสือที่เข้ารับการอบรมนั้น ได้รับการคัดเลือกจากท้องถิ่นที่มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งสิ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังโควิด 19 ซึ่งลูกเสือมัคคุเทศก์เหล่านี้จะได้แสดงศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญในการท่องเที่ยวไทยต่อไป
ข่าว: กรรณิกา พันธ์คลอง / เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ
ภาพ: ปรานี บุญยรัตน์ / ณัฐวุฒิ วากะดวน