ทุก ๆ ปี ในเดือนสิงหาคม คนไทยจะคุ้นเคยกันดีกับการใช้ดอกมะลิ เป็นตัวแทนเพื่อคุณแม่กัน ด้วยความขาว สะอาด บริสุทธิ์ กลิ่นหอม ที่สำคัญ ดอกไม้เป็นยาดอกนี้ยังถูกใช้เพื่อการบรรเทารักษาโรคมานานหลายยุคหลายสมัยด้วยนะคะ
ในประวัติศาสตร์ ดอกมะลิ มีการใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงครรภ์ แก้ลมวิงเวียน ช่วยนอนหลับ ด้วยรสหอมเย็น ทำให้สดชื่น ชื่นใจ ผ่อนคลาย ทุกบ้านจะใช้ดอกมะลิลอยน้ำใส่ขันไว้รับแขก ไว้ดื่มกินดับกระหาย แก้อ่อนเพลีย และในทางยาไทย ดอกมะลิ เป็นยาในพิกัดเกสรทั้ง 5 เกสรทั้ง 7 และ เกสรทั้ง 9 และเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมหลายขนาน เช่น ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมนวโกศ ยาหอมอินทจักร์ และโดยเฉพาะหอมเทพจิตรที่มีดอกมะลิประกอบมากที่สุดในตำรับ
นอกจากการใช้เป็นยาไทย ศาสตร์สุคนธบำบัด ยังมีการใช้กลิ่นหอมของดอกมะลิ เพื่อบำรุงร่างกาย ปรับสมดุลอารมณ์และจิตใจ แก้ปวดศีรษะ คลายเครียด และช่วยการนอนหลับให้ดีขึ้น กระทั่งมีการยกให้ มะลิ เป็น King of Essential oils ในขณะที่ กุหลาบ เป็น Queen of Essential oils และมีการศึกษาวิจัย ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เพื่อยืนยันสรรพคุณและประโยชน์ของดอกไม้ชนิดนี้ ที่น่าสนใจคือ
- มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโคโรนารี และ กระตุ้นหัวใจ ฤทธิ์ดังกล่าวเป็นผลช่วยสนับสนุนการใช้มะลิในตำรับยาหอม ยาพื้นบ้านที่ช่วยแก้ลมวิงเวียนได้
- ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus sanguinis ที่เป็นสาเหตุให้เกิดฟันผุ โดยสารสกัดเมทานอล จากดอกมะลิลาแห้ง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าว
- ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa และเชื้อรา Aspergillus niger โดยสารสำคัญในดอกมะลิลา มีผลยับยั้งได้
- ฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ด้วยน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ มีฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
- ฤทธิ์สงบประสาท และทำให้นอนหลับ ฤทธิ์ดังกล่าวถูกใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยการศึกษาน้ำคั้นจากรากสดมะลิลา 1-8 กรัม ต่อน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง หนู กระต่าย และสุนัข มีผลในการสงบประสาท ทำให้สัตว์เคลื่อนไหวน้อยลง และทำให้นอนหลับ ในปริมาณต่างกัน จึงควรระมัดระวังในการใช้ เพราะการใช้มากเกินไปจะทำให้สลบได้
ขนาดที่แนะนำให้ใช้
ใช้ดอกมะลิแห้ง 1.5 – 3 กรัม ต้มน้ำ หรือชงน้ำร้อนดื่ม
ดอกมะลิสด 4-5 ดอก ลอยน้ำให้กลิ่นหอม
ข้อควรระวัง
– ไม่ควรรับประทานมะลิ ในรูปแบบ ยา หรือขนาดสูง ติดต่อกันนานเกินไป เพราะอาจทำให้เฉื่อยชาและหลงลืมง่าย
– ไม่ควรรับประทานรากมะลิดองเหล้า เพราะอาจทำให้หมดสติ
– ระวังการใช้ดอกมะลิในผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือด วาร์ฟาริน
ตัวอย่างเครื่องดื่มประยุกต์จากดอกมะลิ
สูตรน้ำ 3 ดอกไม้
ส่วนประกอบ
- ดอกมะลิ
- ดอกดาวเรือง
- ดอกเก๊กฮวย
- น้ำผึ้ง
วิธีทำ
- นำดอกดาวเรืองและดอกเก๊กฮวย จะเป็นดอกสดหรือแห้งก็ได้ อย่างละ 1 ช้อนตวง ใส่ในหม้อต้ม
- เติมน้ำเปล่าให้ท่วมดอกไม้ และต้มทิ้งไว้ 15 นาที
- เมื่อต้มเสร็จ ให้ปิดแก๊ส และทิ้งน้ำดอกไม้ให้อุ่นสักครู่
- จากนั้นนำดอกมะลิ 1 ช้อนตวงมาลอยน้ำให้กลิ่นหอมออกมา (ไม่นำดอกมะลิไปต้มร่วมด้วยเพราะจะทำให้กลิ่นหอมของดอกมะลิหายไป
- ปรุงรสด้วยน้ำผึ้งตามใจชอบ เท่านี้เป็นอันเสร็จ
ช่องทางปรึกษาสุขภาพกับอภัยภูเบศร
Facebook : สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
คลินิกออนไลน์ : @abhthaimed
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
บันทึกของแผ่นดิน 9 สมุนไพรในสภาวะโลกร้อน
ฐานข้อมูลเครื่องยา มหาวิทยาลัยอุบล http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=106