หลายๆ คนคงรู้จักคลอโรฟีลล์ ซึ่งเป็นสารสีเขียวที่พบในพืชชั้นสูง และสาหร่ายสีเขียว (chlorella) เวลาที่เรารับประทานผักผลไม้ที่มีสีเขียว ร่างกายของเราก็จะได้รับคลอโรฟีลล์ไปด้วย สารคลอโรฟีลล์ที่อยู่ในรูปธรรมชาตินี้จะอยู่ในรูปคลอโรฟีลล์ที่ละลายในน้ำมัน ตัวอย่างเช่น ในผักชีฝรั่ง 1 ถ้วย มีคลอโรฟีลล์สูงถึง 38 มก. ผักขม 1 ถ้วย มีคลอโรฟีลล์ 23.7 มก. ดังนั้นถ้าเรารับประทานผัก ผลไม้สดเป็นประจำ ร่างกายก็จะได้รับคลอโรฟีลล์อยู่แล้ว
คลอโรฟีลล์ที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นสารสังเคราะห์ที่มีชื่อว่า โซเดียมคอปเปอร์ คลอโรฟีลลิน (Sodium Copper Chlorophyllin) เป็นการดัดแปลงโครงสร้างคลอโรฟีลล์ตามธรรมชาติ ทำให้ได้สารคลอโรฟีลลินที่ยังคงมีสีเขียวอยู่ แต่มีความคงตัวและสามารถละลายน้ำได้ดี จึงนำมาผสมในอาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) รับรองความปลอดภัยเฉพาะคลอโรฟีลล์ชนิดที่ละลายในน้ำเท่านั้น เนื่องจากคลอโรฟีลล์ที่ละลายในน้ำหากได้รับมากเกินไปสามารถละลายออกมาทางปัสสาวะได้ แต่หากได้รับคลอโรฟีลล์ชนิดละลายในไขมันมากเกินไป จะทาให้มีการสะสมเกิดขึ้นซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียต่อตับและไตได้
การศึกษาในคนของคลอโรฟีลล์ พบว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม ป้องกันการเกิดมะเร็งที่ตับ ซึ่งขนาดที่ใช้รับประทานในการศึกษาคือคลอโรฟิลล์ชนิดเม็ดขนาด 100 มก./วัน วันละ 3 ครั้ง นาน 3-4 เดือน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เพิ่มปริมาณและกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว ยับยั้งสารพิษ ปกป้องผิวหนังจากรังสี จากข้อมูลของ PDR for Health ได้กำหนดข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง ผลข้างเคียง และขนาดที่ใช้ของคลอโรฟีลล์ และ คลอโรฟีลลิน ดังนี้
ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ หรือไวต่อสิ่งกระตุ้นที่มี chlorophyll และ chlorophyllin เป็นส่วนประกอบ
ข้อควรระวัง : การรับประทาน chlorophyll และ chlorophyllin เสริมนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และมารดาที่ให้นมบุตร
ผลข้างเคียง : การรับประทาน chlorophyll และ chlorophyllin เสริมอาจมีผลทำให้ปัสสาวะมีสีเปลี่ยนไปเป็นสีเขียว อุจจาระมีสีเขียว ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเกือบดำ และมีรายงานว่าทำให้ท้องเสีย นอกจากนี้ ยังพบรายงานการเกิดอาการแพ้สารคลอโรฟีลลิน โดยอาจพบผื่นแพ้ขึ้นตามตัว เวียนศีรษะ เหงื่ออกมากและความดันโลหิตตกอย่างรวดเร็วได้
ขนาดที่ใช้ : โดยทั่วไปขนาดที่นิยมใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคือ 100 มก./วัน
ในอเมริกากำหนดความปลอดภัยของสารคลอโรฟีลลินในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือใช้เป็นสีผสมอาหารได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป สามารถรับประทานคลอโรฟีลลินได้ในขนาด 90 มิลลิกรัมต่อวัน
ตารางแสดงปริมาณคลอโรฟีลล์ในพืชผักต่าง ๆ ปริมาณคลอโรฟีลล์ในผักต่าง ๆ | ||
ชนิดของผัก | ปริมาณของผัก (ถ้วยตวง) | คลอโรฟีลล์ (มก.) |
ผักขม | 1 | 23.7 |
ผักชีฝรั่ง | ½ | 19.0 |
ผักเครส (cress) ทาสลัด | 1 | 15.6 |
ถั่วเขียว | 1 | 8.3 |
Arugula | 1 | 8.2 |
ต้นกระเทียม | 1 | 7.7 |
ผักเอนไดฟ์ (endive) | 1 | 5.2 |
ถั่วลันเตา | 1 | 4.8 |
ผักกาดขาว | 1 | 4.1
|
แหล่งที่มา : http://lpi.oregonstate.edu/infocenter/phytochemicals/chlorophylls/
จะเห็นได้ว่าคลอโรฟีลล์มีประโยชน์พอสมควร แต่ในการบริโภคนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ความปลอดภัย ความจำเป็นที่ต้องใช้ คุณภาพและราคา เป็นต้น ซึ่งหากสามารถบริโภคผักใบเขียวได้ คงไม่จำเป็นที่จะต้องบริโภคคลอโรฟีลล์ที่เป็นสารสังเคราะห์ แต่ถ้าหากมีความจำเป็นที่จะต้องบริโภคก็ต้องอยู่ในขนาดที่เหมาะสม และไม่เกิดพิษกับร่างกายเพื่อสุขภาพของตัวเราทุกคน
เอกสารอ้างอิง
1. Chlorophyll and Chlorophyllin. http://lpi.oregonstate.edu/infocenter/phytochemicals /chlorophylls/. Access available on 01 February 2018.
ขอบคุณข้อมูลจาก MED HERB GURU โดย พนิดา ใหญ่ธรรมสาร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล