กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงสาธารณะสุข ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและมีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อพัฒนาระบบการปฏิบัติการฉุกเฉินทางน้ำ เสริมสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาการฝึกอบรมให้กับผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันในด้านปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและนักท่องเที่ยวผู้ใช้บริการทางน้ำ โดยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และร่วมเป็นสักขีพยานฯ ในวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2563 ณ ท่าเทียบเรือกรมเจ้าท่า กรุงเทพฯ
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกระทรวงคมนาคม ได้พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในภาพรวม เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้า ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับบริการอย่างเท่าเทียม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการกำกับ ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ เกิดความเชื่อมั่นตลอดการเดินทางในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้พัฒนาและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางน้ำมาโดยตลอดโดยหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับฯ คือ การสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยทางน้ำ ของหน่วยงานที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการกำกับ ดูแลความปลอดภัยในกับประชาชนและนักท่องเที่ยว และจากความร่วมมือการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและมีคุณภาพ มาตรฐาน ในครั้งนี้ นับเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ได้รับอุบัติเหตุทางน้ำเจ็บป่วยขณะเดินทางด้วยเรือรวมถึงประชาชนในพื้นที่เกาะ ได้รับการ ดูแลด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำอย่างมีมาตรฐานและมีความปลอดภัย นำส่งโรงพยาบาลจนพ้นภาวะวิกฤติ ซึ่งจากกรณีเรือเฟอร์รี่ (ราชา 4) ได้รับอุบัติเหตุ บริเวณเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งจะสามารถนำความสำเร็จจากความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ลงสู่ภาคปฏิบัติให้ครอบคลุมในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก มีความรุนแรงสูงต้องได้รับการรักษาและนำส่งด้วยชุดปฏิบัติการฉุกเฉินที่เหมาะสมและทันท่วงที จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการลงได้
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กระทรวงคมนาคม เป็นกระทรวงที่มีภารกิจหลักในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงของระบบขนส่ง ซึ่งกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงาน ที่มีหน้าที่กำกับ ดูแล ด้านความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำ ดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชน ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันขยายขอบเขตการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ครอบคลุมถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทางน้ำ เท่าเทียม และมีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งมีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุประสบภัยทางน้ำได้ทันเวลาซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพและประสบการณ์ของทั้งสองหน่วยงาน จะสามารถช่วยยกระดับการปฏิบัติการระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำ รวมถึงการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ ตลอดจนขยายผลการปฏิบัติติกับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและส่วนรวม
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่า มีหน้าที่ ในการกำกับดูแลการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย มีความยินดีและมีความพร้อมในการรองรับความร่วมมือร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในด้านการปฏิบัติงาน พัฒนา และฝึกอบรมร่วมกัน ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้เล็งเห็นถึงการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยทางน้ำเป็นสิ่งสำคัญ และพร้อมที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนในการผลักดันมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินทางน้ำให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น อาทิ ด้านมาตรฐานเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ ท่าเรือและผู้ประกอบการท่าเรือ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันในด้านการปฏิบัติการฉุกเฉินทางน้ำ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและนักท่องเที่ยวผู้ใช้บริการทางน้ำ และขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งสองหน่วยงาน ให้ปฏิบัติติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถและบรรลุวัตถุประสงค์แห่งความร่วมมือฯ ที่ตั้งไว้
ทางด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ. มีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยฉุกเฉินในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งได้มีการพัฒนาการหน่วยปฏิบัติการแพทย์ มีการพัฒนาชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทางบกเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ครอบคลุมในพื้นที่เข้าถึงได้ยาก เช่นพื้นที่ภูเขาสูง พื้นที่เกาะ พบว่ามีประชาชนและนักท่องเที่ยวมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำและในพื้นที่เกาะเพิ่มขึ้น มีความรุนแรงสูง ต้องได้รับการรักษาและนำส่งด้วยชุดปฏิบัติการฉุกเฉินที่เหมาะสมและทันท่วงที จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการลงได้ จึงได้มีการพัฒนาชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทางอากาศยานและทางน้ำ ซึ่งชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทางน้ำจำเป็นต้องใช้เรือและ ท่าเทียบเรือที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและ ผู้ปฏิบัติการ “การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับกรมเจ้าท่าครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาระบบการปฏิบัติการฉุกเฉินทางน้ำ เสริมสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาการฝึกอบรมให้กับผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันในด้านปฏิบัติการฉุกเฉินเป็นไปตามวัตถุประสงค์อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการปฏิบัติการฉุกเฉินให้มีมาตรฐาน ตามที่กฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินกำหนด และสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเลขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ และอนุสัญญาอื่นที่ราชอาณาจักรไทยมีพันธสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยตระหนักถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ผู้โดยสารบนเรือ ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือได้รับอุบัติเหตุฉุกเฉิน ผู้ประสบภัยให้ได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง” เลขาธิการ สพฉ.กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมเจ้าท่า โทร ๐ 2223 1311 – 8 ต่อ 280 , 285 หรือกลุ่มสื่อสารองค์การ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 089-019-1669 , 081-989-1669
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
3 สิงหาคม 2563