สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : การใช้สมุนไพรในหญิงใกล้หมดและหมดประจำเดือน

“สตรีวัยทอง” หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือวัยหมดระดู หมายถึง สตรีในวัย 40 – 59 ปี ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงเนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ซึ่งทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวรร่วมด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามมา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะก่อนหมดประจำเดือน (perimenopause)
    เป็นระยะเริ่มของการหมดประจำเดือนทำให้สตรีมีประจำเดือนมาผิดปกติ ร่วมกับมีอาการทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์จะแปรปรวน ซึ่งระยะนี้จะเกิดประมาณ 2-3 ปี
  2. ระยะหมดประจำเดือน (menopause)
    เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่การหมดประจำเดือนมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี
  3. ระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause)
    เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ช่องคลอดตีบแคบ กระดูกพรุน และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆได้ง่าย

ปัญหาด้านสุขภาพในสตรีวัยใกล้หมดระดูเป็นปัญหาที่จะมีความสําคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มขึ้น ทําให้ชีวิตในวัยหลังหมดระดูมีระยะเวลายาวนานขึ้น ประมาณว่าในปัจจุบันนี้สตรีส่วนใหญ่จะใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของอายุขัยอยู่ในวัยหลังหมดระดู มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2563 ประเทศไทยจะมีสตรีอายุ 40-59 ปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ปัญหาสำคัญของอาการวัยหมดประจำเดือนนี้ อาจก่อให้เกิดอาการต่างๆ ที่สำคัญจากภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง  คือ  มีการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือน  เช่น ประจำเดือนมาน้อยลงและค่อยๆ หมดลง  หรือประจำเดือนขาดหายไป    มีการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทอัตโนมัติ ได้แก่  มีอาการร้อนวูบวาบ  มีเหงื่ออกในตอนกลางคืน  มีผลต่ออารมณ์และจิตใจ ทำให้มีอาการหงุดหงิด  อารมณ์แปรปรวน  เหนื่อยล้า  และซึมเศร้า มีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์สตรี  เช่น  ช่องคลอดแห้ง  มีผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ  โดยทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะฝ่อลีบ  และหย่อนลง  มีผลต่อไขมันและระบบหลอดเลือด ทำให้คลอเลสเตอรอลสูงขึ้น  และรวมถึงทำให้มีระบบความจำลดลง ซึ่งในการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันต้องมีการประเมินความรุนแรง  หากในรายที่อาการเป็นไม่มาก  ไม่รุนแรง  แพทย์อาจจะพิจารณาใช้ยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนและรักษาตามอาการ  ส่วนในรายที่เป็นรุนแรง หรือมีอาการมาก  จะใช้การรักษาโดยการใช้ยาฮอร์โมนทดแทน  ซึ่งมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา  เช่น  เจ็บเต้านม  คลื่นไส้  ฝ้าขึ้น บวม  หรืออาจมีประจำเดือนกลับมาใหม่ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก  มะเร็งเต้านม  เส้นเลือดดำอุดตัน  โดยเฉพาะบริเวณขา  และนิ่วในถุงน้ำดี

ในทางการแพทย์แผนไทยภาวะหมดประจำเดือน หรือที่คนโบราณมักพูดว่า “เลือดจะไปลมจะมา” เป็นภาวะที่ธาตุไฟ หรือความร้อนในร่างกายกำลังลดลง ในขณะเดียวกันธาตุลมก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งธาตุลมมีความสัมพันธ์กับอาการวิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับซึมเศร้า ปวดชาตามมือตามเท้า ผิวหนังแห้ง ช่องคลอดแห้ง วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ในสมัยก่อนผู้หญิงจะมีวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ทั้งการใช้ยาสมุนไพรและการปฏิบัติตน สำหรับสมุนไพรที่ช่วยลดอาการของวัยหมดประจำเดือนนั้นมีมากมายหลายชนิด สมุนไพรที่ใช้เป็นพื้นฐาน คือ พวกที่มีรสสุขุม เพื่อคุมธาตุลมไม่ให้กำเริบหรือมีมากเกินไป เช่น ยาในกลุ่มยาหอม ยาที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับร่างกายเพื่อไปปรับสมดุลที่เกิดภาวะของธาตุลมที่สูงขึ้น รวมถึงยาที่ช่วยบำรุงเลือด เช่น คำฝอย กระเจี๊ยบแดง ในรายที่มีอาการหนาวใน ตัวบวมด้วยก็จะมีการเพิ่มสมุนไพรที่มีรสร้อน เช่น ขิง ดีปลี พริกไทย เป็นต้น

ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ได้มีการนำตำรับยาสมุนไพรที่มีชื่อว่า “ยาแก้ประจำเดือนจะหมด”  ซึ่งเป็นตำรับยาจากหมอยาพื้นบ้าน บรรจุในเภสัชตำรับของโรงพยาบาล และมีข้อบ่งชี้ในการจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วย คือ อาการเลือดจะไปลมจะมา ซึ่งในทางการแพทย์แผนปัจจุบันภาวะนี้สัมพันธ์กับวัยหมดระดู ในทางการแพทย์แผนไทยอาการเลือดจะไปลมจะมาอาจพบได้ทั้งในภาวะก่อน (premenopause) ระหว่าง (perimenopause) และหลังหมดประจำเดือน (postmenopause) เนื่องจากความสมดุลของธาตุลมในร่างกายของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน ดังนั้นแพทย์แผนไทยจะมีวิธีประเมินภาวะนี้ด้วยการตรวจร่างกาย จับชีพจรและสอบถามอาการ แล้วจึงจ่ายยา

จากข้อมูลเบื้องต้นของงานการแพทย์แผนไทยและงานการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ในผู้ป่วยที่มีอาการเลือดจะไปลมจะมา ทั้งหมดรวม 144 ราย ตั้งแต่ปี 2560 – ปี 2562 พบว่า มีการใช้ตำรับยานี้ในผู้ป่วยที่มีอาการเลือดจะไปลมจะมา จำนวน 115 ราย ที่สามารถติดตามอาการได้ สามารถสรุปข้อมูลการใช้ยาแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ 1) กลุ่มระยะก่อนหมดประจำเดือน (2) กลุ่มระยะหมดประจำเดือน (3) กลุ่มวัยหลังหมดประจำเดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการ ร้อนวูบวาบ/หนาวๆร้อนๆ คิดเป็นร้อยละ 73.91 มีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย คิดเป็นร้อยละ 40 และมีอาการหงุดหงิดง่าย คิดเป็นร้อยละ 24.35 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด  ทั้งนี้จากการใช้ยาผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น 111 ราย (ร้อยละ 96.52)  และอาการคงที่ 4 ราย (ร้อยละ 3.48)   ไม่มีผู้ป่วยรายใดเลยที่อาการแย่ลง  นอกเหนือจากอาการร้อนวูลวาบที่เป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วยแล้ว ร้อยละ 26.09 ยังรายงานว่าทำให้หลับดีขึ้นด้วย ซึ่งจากข้อมูลนี้สัมพันธ์กับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่พบว่า ยาตำรับนี้ช่วยลดภาวะวิตกกังวลในหนูไมซ์ถูกตัดรังไข่เพื่อเลียนแบบภาวะหมดประจำเดือน และช่วยลดภาวะ oxidative brain injury ในหนูได้5 ซึ่งยานี้อาจเป็นทางเลือกในการปรับอารมณ์และชะลอความจำลดลงจากวัยทอง

ข้อมูลการใช้ทางคลินิกประกอบกับการวิจัยเบื้องต้น ชี้ให้เห็นศักยภาพของยาตำรับนี้ในการช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยในหญิงวัยทองได้ แต่ยังขาดงานวิจัยที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อสนับสนุนให้เกิดหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาตำรับนี้ให้กว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจให้เกิดตำรับยาที่เกิดจากองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย ซึ่งจะสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดสมุนไพรได้ ในท้องตลาดปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ครองตลาดและเป็นที่นิยมอยู่ เช่น สารสกัดถั่วเหลือง, primrose oil และ black cohosh ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ต้องนำเข้า

ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร