สกสว. ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงนาม MOU สานพลังงานวิจัยตอบโจทย์พัฒนาประเทศด้านนิติบัญญัติ

สกสว. ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อสถาบันนิติบัญญัติ ครอบคลุม 3 กิจกรรมใหม่ เชื่อมโยงระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนางานด้านนิติบัญญัติของประเทศ โอกาสนี้ได้รับเกียรติจากท่าน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานวิจัยในการพัฒนาประเทศ

วันที่ 21 กรกฏาคม 2563 ที่ห้องรับรอง ชั้น 3 อาคารรัฐสภา ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วย นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อสถาบันนิติบัญญัติ ระหว่าง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากลไกส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์สู่ภาคนโยบายด้านนิติบัญญัติ

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการสานพลังความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างสองหน่วยงานที่มีมาตั้งแต่เดิมคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ปัจจุบันมีการเปลี่ยนบทบาทใหม่เป็น สกสว. สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีภารกิจในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ สกสว. ยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือ การพัฒนาระบบและกลไกส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในมิติต่าง ๆ จึงมีการสานต่อความร่วมมือนี้เพื่อก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย ฝ่ายนิติบัญญัติ มุ่งหวังให้เป็นกลไกเชิงสถาบันในการส่งผ่านข้อมูล ข้อค้นพบ และองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่ฝ่ายนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม โดยความร่วมมือครั้งนี้ยังได้ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมใหม่ 3 กิจกรรมประกอบด้วย 1) การเชื่อมโยงงานวิจัยและเครือข่ายนักวิจัยในระบบ ววน. ทั่วประเทศ ให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์กับทางนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการขยายฐานแหล่งข้อมูลที่สามารถนำมาตอบสนองความต้องการให้กว้างขวางออกไปมากขึ้น โดยการเชื่อมโยงนี้จะมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนา National Platform การวิจัยต่อไป 2) การพัฒนากลไกติดตามการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้เป็นระบบมากขึ้น และ 3) การศึกษาหาลักษณะและช่องว่างในการใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ สกสว. มีความเข้าใจถึงความต้องการงานด้านวิชาการของฝ่ายนิติบัญญัติได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ สกสว. มุ่งหวังให้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาเป็นระบบหลัก หรือ Backbone System ที่เชื่อมโยงระหว่างสองหน่วยงาน และท้ายที่สุดสามารถนำไปสู่การพัฒนาเป็นระบบต้นแบบที่สามารถนำไปเป็นแบบอย่างให้กับภาคีอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตามความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานเห็นพ้องร่วมกันว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จะเป็นการพัฒนางานด้านวิชาการและสนับสนุนงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานบทบาทภารกิจของสภานิติบัญญัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยองค์ความรู้จากงานวิจัยถือเป็นส่วนสำคัญในการนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินภารกิจของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ

…………………………………………………..