นักวิชาการ อพวช. สุดเจ๋ง! ค้นพบมดและหอยทากจิ๋วชนิดใหม่ของโลก

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ค้นพบมด 5 ชนิดใหม่ของโลกที่ประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย และหอยทากจิ๋ว 2 ชนิดใหม่ของโลกถูกค้นพบทางตอนเหนือของประเทศไทย พร้อมจัดแสดงตัวอย่างหอยทากจิ๋วตัวอย่างจริงในนิทรรศการ Land Snail & Land Slug โดยจำลองถ้ำที่มีลักษณะโครงสร้างเหมือนสถานที่พบจริง สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพ ความสำคัญต่อระบบนิเวศ และต่อมนุษย์ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่พร้อมสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสังคม ด้วยการจัดแสดงนิทรรศการผ่านพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว อีกหนึ่งภารกิจสำคัญก็คือ เป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัย รวบรวมวัสดุอุเทศ เผยแพร่ความรู้และจัดแสดงนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ซึ่งมีนักวิจัยเฉพาะด้านที่หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งในทุกๆ ปี นักวิจัยจะออกสำรวจเพื่อศึกษาความหลากหลายเก็บตัวอย่าง และเป็นที่น่ายินดีที่นักวิชาการ อพวช. มักจะค้นพบสัตว์และพืชชนิดใหม่อยู่เสมอ ในปีนี้ค้นพบมด 5 ชนิดใหม่ของโลก โดย 2 ชนิดแรกพบที่ประเทศไทย ได้แก่ มดท้องคอดครูตู่ พบที่จังหวัดตาก และมดท้องคอดลายร่างแห พบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และอีก 3 ชนิดพบที่เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย ได้แก่ มดปากห่างเอะซุโกะ มดปากห่างอกร่อง และมดปากห่างครูเกรียง โดยมดชนิดใหม่ทั้ง 5 ชนิดนี้ถูกค้นพบและตั้งชื่อโดย ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง (หัวหน้าทีมวิจัย อพวช.) รศ.ดร. เดชา วิวัฒน์วิทยา (คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และ ศ.ดร. เซกิ ยะมะเนะ (Kagoshima University) ในเดือนกรกฎาคม 2563 นอกจากนี้ นางสาวบังอร ช่างหลอม นักวิชาการ อพวช. ยังได้คนพบหอยทากจิ๋ว 2 ชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ หอยทากจิ๋วผิวตาข่าย พบในถ้ำวัว จังหวัดแม่ฮ่องสอน และหอยทากจิ๋วเมืองออน พบในถ้ำเมืองออน จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนมกราคม 2563

ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการ อพวช. กล่าวว่า ทั่วโลกพบมดท้องคอดเพียง 5 ชนิด ในจำนวนนี้ 3 ชนิดพบในทวีปอเมริกา อีก 2 ชนิดพบในเอเชีย (อินเดีย ศรีลังกา และญี่ปุ่น) สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่เคยมีรายงานมดสกุลนี้มาก่อน ดังนั้น “การค้นพบนี้ถือเป็นการค้นพบมดสกุลท้องคอดครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยมดชนิดใหม่ที่ค้นพบในครั้งนี้ ได้แก่

Untitled-1
  • ท้องคอดครูตู่ (Syscia chaladthanyakiji Jaitrong, Wiwatwitaya et Yamane, 2020) มีลักษณะ ตัวเรียวยาวรูปทรงกระบอก ไม่มีตา หนวด 11 ปล้อง แตกต่างจากญาติใกล้ชิดที่พบในศรีลังกาตรงที่ เอวปล้องที่สองมีความยาวเท่ากับความสูง หัวสั้นกว่า และผิวลำตัวหยาบกว่า มดชนิดนี้สร้างรังอยู่ในท่อนไม้ผุที่อยู่บนพื้นป่า พบได้ในจังหวัดตาก และนครนายก มดชนิดนี้พบได้ในป่าดิบแล้ง และดิบเขาที่ค่อนข้างสมบูรณ์
Untitled-2
  • มดท้องคอดลายร่างแห (Syscia reticularis Jaitrong, Wiwatwitaya et Yamane, 2020) มีลักษณะ ลำตัวค่อนข้างสั้นและป้อม แตกต่างจากชนิดอื่นในสกุลเดียวกันตรงที่ผิวของลำตัวเป็นเป็นหลุมลึกเชื่อมต่อกันเป็นลายร่างแห่ ตามลักษณะชื่อของมด สามมารถพบชนิดนี้ได้ในท่อนไม้ผุที่อยู่บนพื้นป่าดิบชื้น กระจายอยู่ทางภาตใต้ของไทย (นครศรีธรรมราช) และมาเลเซียฝั่งตะวันตก

ส่วนมดชนิดใหม่ของโลกอีกสามชนิดที่เหลือเป็นมดที่อยู่ในสกุล “มดปากห่าง (Genus Myopias)” มดขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ โดยศาสตราจารย์ เซกิ ยะมะเนะ เป็นผู้เก็บตัวอย่างมดมาจากเกาะบอร์เนียว รัฐซาบาร์ ประเทศมาเลเซีย เก็บรักษาไว้ ณ มหาวิทยาลัยคาโงชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ดร.วียะวัฒน์ นำตัวอย่างดังกล่าวมาศึกษาอย่างละเอียดและพบว่าเป็นชนิดที่ไม่เหมือนกับชนิดอื่นใดที่เคยตั้งชื่อมาก่อน แสดงว่าเป็นมดที่ยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการมาก่อน จึงช่วยกันบรรยายลักษณะ ตั้งชื่อเป็นมดชนิดใหม่ของโลก ได้แก่

  • มดปากห่างเอะซุโกะ (Myopias etsukoae Jaitrong, Wiwatwitaya et Yamane, 2020) มีลักษณะ เป็นมดขนาดกลาง สีนำตาลแดง ตาเล็ก ขอบหน้าของแผ่นริมฝีปากบนเว้าลึก ผิวลำตัวค่อนข้างเรียบ ยกเว้นด้านข้างลำตัวและเอวมีผิวหยาบ สามารถพบมดชนิดนี้ได้ในป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ สร้างรังอยู่ในไม้ผุ แพร่กระจายบนเกาะบอร์เนียว รัฐซาบาร์ ประเทศมาเลเซีย

  • มดปากห่างอกร่อง (Myopias striaticeps Jaitrong, Wiwatwitaya et Yamane, 2020) มีลักษณะ เป็นมดขนาดใหญ่ สีดำถึงน้ำตาลดำ ผิวด้านบนของหัว และอกมีลักษณะเป็นร่องขนาดเล็กจำนวนมากขนานกับความยาวลำตัว พบมดชนิดนี้ได้บนพื้นที่สูงกว่า 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และอาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ แพร่กระจายอยู่เฉพาะบนเกาะบอร์เนียว

  • มดปากห่างครูเกรียง (Myopias suwannaphaki Jaitrong, Wiwatwitaya et Yamane, 2020) มีลักษณะ เป็นมดขนาดเล็ก สีเหลือง ผิวลำตัวเรียบเป็นเงามัน แผ่นริมฝีปากบนแคบโดยมีขอบด้านหน้าเป็นเส้นตรง ตาเล็กมาก มดชนิดนี้ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ผู้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนไทยให้รักธรรมชาติ พบบนเกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย สร้างรังในไม้ผุที่วางอยู่บนพื้นดินในป่า

ดร.วียะวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังมีแมลงอีกหลายชนิดที่เรายังไม่รู้จัก และกำลังจะสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะค้นพบพวกมัน จากการที่ถิ่นอาศัยถูกคุกคามโดยกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ดังนั้น ก่อนที่พืชหรือสัตว์จะสูญหายไปก่อนที่เราจะรู้จักมันจึงจำเป็นต้องช่วยกันศึกษาทรัพยากรธรรมชาติของเราอย่างจริงจัง

ด้าน นางสาวบังอร ช่างหลอม นักวิชาการ อพวช. ผู้ค้นพบหอยทากจิ๋ว 2 ชนิดใหม่ของโลก กล่าวว่า ตัวอย่างหอยทากจิ๋วถูกค้นพบครั้งแรก โดย นายธัญญา จั่นอาจ อดีตผู้อำนวยการกองวัสดุอุเทศธรรมชาติวิทยา อพวช. จากนั้น ตนเองได้นำตัวอย่างมาศึกษาและจำแนกชนิดร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพา จึงแน่ใจว่าเป็นหอยทากจิ๋วชนิดใหม่ของโลก จึงช่วยกันบรรยายลักษณะ ตั้งชื่อเป็นหอยทากจิ๋วชนิดใหม่ของโลก ได้แก่

  • หอยทากจิ๋วผิวตาข่าย (Retilaculated Microsnail: Acinolaemus cryptidentatus) พบในถ้ำวัว จังหวัดแม่ฮ่องสอน หอยทากจิ๋วชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่ผิวเปลือกมีลวดลายคล้ายตาข่ายละเอียด และมีตำแหน่งของฟันในช่องเปิดเปลือก (Apertural Teeth) แตกต่างจากหอยทากจิ๋วชนิดอื่นๆ อาศัยเกาะบนผนังถ้ำที่แห้งๆ และมีแสงส่องถึงเล็กน้อยเท่านั้น พบแพร่กระจายเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย
  • หอยทากจิ๋วเมืองออน (Muengon Microsnail: Acinolaemus mueangonensis) พบในถ้ำเมืองออน จังหวัดเชียงใหม่ หอยทากจิ๋วชนิดนี้มีตำแหน่งของฟันในช่องเปิดเปลือก (Apertural Teeth) แตกต่างจากหอยทากจิ๋วชนิดอื่นๆ ที่เคยมีรายงานมาก่อนหน้านี้ อาศัยเกาะบนผนังและหินงอกหินย้อย มีแสงส่องถึงเล็กน้อยและมีความชื้นสูง พบแพร่กระจายเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย

นางสาวบังอร กล่าวทิ้งท้ายว่า หอยทากจิ๋วผิวตาข่ายและหอยทากจิ๋วเมืองออน นับว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศเขาหินปูนเป็นอย่างมาก กล่าวคือ เป็นอาหารให้กับสัตว์ชนิดอื่นๆ ในห่วงโซ่อาหาร เช่น นก และสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ภายในถ้ำ ปัจจุบันหอยทากจิ๋วมีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยจำเพาะต่อภูเขาหินปูนและมีการกระจายเป็นบริเวณแคบ ส่วนใหญ่มักพบกระจายอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น อีกทั้งยังถูกคุกคามจากการท่องเที่ยวที่ขาดความรับผิดชอบ การระเบิดทำลายภูเขาหินปูนเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมทำปูนซีเมนต์ การรุกล้ำพื้นที่ถ้ำเพื่อทำการเกษตรที่มีการใช้สารเคมี เป็นต้น

ผศ.ดร.รวินฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในขณะนี้ อพวช. ได้จัดแสดงนิทรรศการ “Land Snail & Land Slug” แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพของหอยทากบกและทากบกที่พบในประเทศไทย พร้อมโชว์ตัวอย่างจริงของ หอยทากจิ๋วลายตาข่าย และหอยทากจิ๋วเมืองออน ที่ถูกจัดแสดงไว้ในถ้ำจำลองที่มีลักษณะโครงสร้างเหมือนสถานที่พบจริง ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จึงขอเชิญประชาชนชาวไทยร่วมภาคภูมิใจไปกับการค้นพบของนักวิชาการไทยได้แล้ววันนี้ สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 577 9999 ต่อ 2109 และ 2123 หรือติดตามได้ที่ www.nsm.or.th

———————————————–