สช.ร่วมจัดนิทรรศการอวดผลงาน เสมา 3 “1 ปี ณ วังจันทรเกษม สะท้อนงาน สะท้อนคน กับ กนกวรรณ วิลาวัลย์”

วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมจัดนิทรรศการแถลงข่าว ผลการดำเนินงานตามนโยบาย ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในงาน “1 ปี ณ วังจันทรเกษม สะท้อนงาน สะท้อนคน กับ กนกวรรณ วิลาวัลย์โดยมี นายประเสริฐ  บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการ กช. นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. ผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา กทม.

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาตลอดชีวิต โดยเน้นการสร้างโอกาสทางการศึกษา เน้นคุณภาพและประสิทธิภาพของผู้เรียน อีกทั้งได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในกระทรวงศึกษาธิการและภาคีเครือข่ายร่วมกันทำงานในระดับพื้นที่เป็นอย่างดี ซึ่งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานครบทั้ง 77 จังหวัด เพื่อติดตามการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งได้แก้ไขข้อจำกัดและปัญหาต่างๆ ดังมีผลการดำเนินงานที่โดนเด่นหลายอย่าง เช่น ได้ผลักดันการเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลครูเอกชน จาก 100,000 บาท/คน/ปี เป็น 150,000 บาท/คน/ปี โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 กองทุนสงเคราะห์ได้อนุมัติค่ารักษาพยาบาลแก่ครู 5,106 คน วงเงินกว่า 77 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไปนั้น ได้วางแผนและกำหนดเป้าหมายที่จะสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด เรียนรู้ออนไลน์ – สร้างงานสร้างอาชีพ – ก้าวสู่สังคมสุขภาวะอย่างมีคุณภาพ อย่างการเรียนรู้ออนไลน์ของโรงเรียนเอกชน จะเน้นการขยายความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ดิจิทัล “ศูนย์ Digital Learning Center ของ สช.” ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ของทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งพัฒนาระบบสวัสดิการกองทุนสงเคราะห์ออนไลน์ ให้สมาชิกได้รู้ข้อมูล ความเคลื่อนไหว และข่าวสารของกองทุน สงเคราะห์อย่างทันท่วงที และ รมช.ศธ. ได้กล่าวถึงกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าได้มอบหมายให้ เลขาธิการ สช. ดำเนินการสำรวจภาพรวมให้ชัดเจนว่าโรงเรียนเอกชนใดที่ยังเปิดสอนอยู่ และโรงเรียนเอกชนใดที่ไม่ได้ดำเนินการแล้ว เพื่อให้การบริหารงานและการสนับสนุนช่วยเหลือต่างๆ เป็นการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยคาดว่าภายในเดือนนี้จะทราบผล และจะดำเนินการในส่วนอื่นๆ ต่อไป

 

นายอรรถพล ตรึกตรอง กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ) ได้เข้ามารับตำแหน่ง ท่านได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรคของการจัดการศึกษาเอกชนด้วยตนเอง โดยท่านมีความเป็นกันเอง ใส่ใจรายละเอียดของงาน มีการติดตามงานหรือนโยบายที่ได้สั่งการไว้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุด และจนถึงวันนี้ สช. ได้ดำเนินการตามนโยบายของท่าน ซึ่งมีนโยบายสำคัญหลายประการ ถือเป็นนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชน และเป็นนโยบายที่สามารถผลักดันให้โรงเรียนเอกชนมีความเข้มแข็ง และเป็นกำลังสำคัญร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป ได้แก่ การดำเนินการในนโยบายด้านการพัฒนาครูและผู้บริหาร ทั้งการพัฒนาครูและบุคลากรปฐมวัย พัฒนาผู้บริหารและครูเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ (O-NET) การดำเนินงานโครงการพัฒนาครูโรงเรียนเอกชนเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 การขอผ่อนผันใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโรงเรียนเอกชน โครงการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสู่ศตวรรษที่ 21 หลักสูตรอบรมครูแบบทางเลือก (Shopping List) นโยบายด้านการจัดการเรียนการสอน ในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเวทีการแสดงออกของนักเรียนเด็กดาวรุ่ง การส่งเสริมกิจการลูกเสือในโรงเรียนเอกชน และนโยบายด้านประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยการแก้ไขปัญหาการค้างจ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชน จัดโครงการจังหวัดต้นแบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ (ปราจีนบุรีโมเดล) การจัดตั้งคณะทำงานบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียน การขอลดภาษีที่ดิน และขอยกเว้นภาษีป้าย การเพิ่มเพดานการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล การออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) ช่วงโควิด-19 และนโยบายด้านการเตรียมการเพื่อจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในโรงเรียนเอกชนรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ผู้บริหาร ครูโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID 19 เช่น การขอผ่อนผันการชำระหนี้เงินกู้ยืมและเงินยืมจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ ให้แก่โรงเรียนที่กู้ยืมและยืมไว้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง การขอเงินช่วยเหลือผู้ปกครองเป็นค่าธรรมเนียมการเรียนคนละ 2,500 บาท/ภาคเรียน การของบประมาณเพิ่มเติมเป็นเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน การเสนอขอวงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) 4,300,000 บาท เพื่อให้โรงเรียนกู้เพื่อใช้ในการบริหารกิจการโรงเรียน เพราะ “กระทรวงศึกษาธิการจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

สำหรับการจัดนิทรรศการในงานแถลงข่าว “1 ปี ณ วังจันทรเกษม สะท้อนงาน สะท้อนคน กับ กนกวรรณ วิลาวัลย์” มีโรงเรียนนานาชาติมูลตรีภักดี จัดนิทรรศการเรื่องการจัดการเรียนการสอน online โรงเรียนปัญญาวุฒิกร จัดนิทรรศการเรื่องการจัดการเรียนการสอนเด็กพิการ และกองทุนสงเคราะห์ ร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานดำเนินงาน การเพิ่มเพดานการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาการเพิ่มเพดานการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน จากไม่เกินคนละ 100,000 บาทต่อคนต่อปีเป็น 150,000 บาทต่อคนต่อปี และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) ช่วงโควิด-19 วงเงิน 3,000,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่สมาชิก

………………………………………………….

ประชาสัมพันธ์ สช.