“เบาหวานลงไต” หรือ “โรคไตจากเบาหวาน” เป็นอีกปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน และยังเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้อีกด้วย สาเหตุเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากโรค “เบาหวาน” หรือ น้ำตาลในเลือดสูง เรื้อรัง เป็นสะสมมาเป็นเวลานาน บางรายไม่ทราบว่าเป็นเบาหวานและไม่ดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน โรคไตจากเบาหวาน เราควรรู้เท่าทันและปรับพฤติกรรม ควบคุมอาหารการกินเพื่อป้องกันโรค
ปัญหาเมื่อเป็นโรคเบาหวานและไม่สามารถควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นระยะเวลานานก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ที่บริเวณอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตา ระบบประสาทส่วนปลาย ไต หัวใจและหลอดเลือด สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตจากเบาหวาน นอกจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจนเกิดอันตรายต่อเซลล์ที่ไตแล้ว ยังทำให้เกิดความดันในหลอดเลือดฝอยในไต และอัตราการกรองของไตสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อไต
โรคไตจากเบาหวานแบ่งได้เป็น 5 ระยะ
- ระยะที่ 1 และ 2 – อาจไม่มีอาการ หรือมีเพียงอาการที่เกิดจากโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย ถ้าตรวจอัตราการกรองของไตจะพบว่าสูงขึ้นกว่าคนปกติร้อยละ 20 – 40 ขนาดของไตอาจใหญ่ขึ้น การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต (ครีอะตินีนในเลือด) จะพบว่าปกติ ตรวจปัสสาวะอาจพบน้ำตาลในปัสสาวะ แต่ไม่พบอัลบูมินในปัสสาวะ หรือพบน้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อวัน
- ระยะที่ 3 – พบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่เป็นเบาหวานมานานมากกว่า 5 ปี ส่วนในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อาจพบได้ตั้งแต่เริ่มตรวจเจอว่าเป็นเบาหวาน การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ เริ่มตรวจพบอัลบูมินในปัสสาวะ อยู่ในช่วง 30 – 300 มิลลิกรัมต่อวัน ถ้าตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไตพบว่าปกติ ความดันโลหิตจะสูงขึ้น ระยะนี้เรียกว่า microalbuminuria …ถ้ามีการดูแลรักษาที่ดีอาจมีการเปลี่ยนกลับไปเป็นระยะที่ 2 ได้ ในทางกลับกันถ้าการดูแลรักษาไม่ดี ร้อยละ 50 – 80 ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และร้อยละ 20-40 ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีการดำเนินของโรคไปสู่ระยะที่ 4
- ระยะที่ 4 – จะพบอัลบูมินในปัสสาวะมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน การตรวจเลือดอาจพบว่าครีเอตินีนสูงกว่าปกติซึ่งแสดงว่าการทำงานของไตลดลง ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตสูง ถ้ามีการดูแลรักษาที่ดีอัลบูมินในปัสสาวะอาจลดลงหรือหายไปได้และสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ แต่ถ้าการดูแลรักษาไม่ดีการทำงานของไตจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนเกิดไตวายได้ ร้อยละ 20-50 ในระยะเวลา 5 – 10 ปี ระยะนี้เรียกว่า macroalbuminuria
- ระยะที่ 5 – ระยะนี้การทำงานของไตลดลงจนเป็นไตวาย จะมีปัสสาวะน้อย บวมตามร่างกาย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน
การป้องกันและดูแลโรคไตจากเบาหวาน
- ควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีโดยมีระดับน้ำตาลสะสม ( HbA1C ) น้อยกว่าร้อยละ 7 การควบคุมน้ำตาลสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคไตจากเบาหวาน ลดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ นอกจากนี้ยังช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ควบคุมความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท โดยจำกัดเกลือที่รับประทานให้น้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม ในกรณีที่ใช้ยาลดความดันโลหิตควรใช้กลุ่ม ACEI หรือ ARB เป็นอันดับแรก ประโยชน์ของการควบคุมความดันโลหิต คือ ช่วยลดการเกิดโรคไตจากเบาหวาน ลดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ ช่วยชะลอการเสื่อมของไต ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ควบคุมไขมันไม่ดีชนิดแอลดีแอล ( LDL ) ให้น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง การควบคุมไขมันไม่ดีชนิดแอลดีแอลช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดอัลบูมินในปัสสาวะและอาจชะลอการเสื่อมของไต
- จำกัดโปรตีนในอาหาร อาจช่วยชะลอการเสื่อมของไต โดยปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม คือ 0.8 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งสามารถขอคำปรึกษากับนักกำหนดอาหารหรือแพทย์ในสถานพยาบาลที่ท่านรักษาเพื่อขอคำแนะนำปริมาณโปรตีนตามที่เหมาะสม
- เลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด
- ระมัดระวังการรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAID)
- ถ้ามีอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะแสบขัด ควรปรึกษาแพทย์
สมุนไพรทางเลือกบำรุงไต กับ 5 หลัก บำรุงไต
หลักการบำรุงไต ของแพทย์แผนไทย แนะนำให้ใช้หลักการดังนี้
- เพิ่มการไหลเวียนเลือด
- สมุนไพรลดการอักเสบ
- ต้านอนุมูลอิสระ
- ลดสารพิษเข้าร่างกาย
- ขับถ่ายของเสียออก
สมุนไพรทางเลือกดูแลไต
1.หญ้าหนวดแมว
เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ขอบใบหยัก แผ่นใบสีเขียวเข้ม มี 2 พันธุ์ ชนิดดอกสีขาวอมม่วงอ่อน และดอกสีฟ้า บานจากล่างขึ้นข้างบน หญ้าหนวดแมวมีโพแทสเซียมสูง และมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ ได้แก่ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่สามารถยับยั้งการเพิ่มขนาดของผลึกแคลเซียมออกซาเลตในก้อนนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ สาร Orthosiphonin glucoside และน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ใช้บำบัดโรคเกี่ยวกับไต โรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งทางการแพทย์แผนไทย หญ้าหนวดแมว ช่วยรักษาโรคปวดข้อ ลดความดันโลหิต บรรเทาอาการไอ ช่วยรักษาโรคไต รักษาสภาพความเป็นกรดด่างในไตให้สมดุล ช่วยขยายหลอดไตให้กว้าง ช่วยเพิ่มการขับสารพิษออกจากไตให้มีประสิทธิภาพ ช่วยขับปัสสาวะ รักษา และป้องกันโรคนิ่วได้
วิธีและปริมาณในการใช้ ให้นำใบและกิ่งแห้ง 4 กรัม มาชงด้วยน้ำร้อน 750 มิลลิลิตร ดื่มน้ำชงต่างน้ำ หรือใช้ใบและก้านสด 90-120 กรัม (แห้ง 40-50 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มน้ำต้มที่ได้ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของหัวใจบกพร่อง ควระวังในการใช้กับผู้ป่วยที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม ระวังในการใช้ร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทานหรือร่วมกับการฉีดอินซูนเพราะอาจทำให้เสริมฤทธิ์ของยา และผู้ป่วยโรคไตในระยะที่การทำงานของไตเสียหายรุนแรง ที่มีการรักษาด้วยการล้างไต หรือฟอกเลือดอยู่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
2.กระเจี๊ยบแดง
กระเจี๊ยบแดงเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นและกิ่งมีสีม่วงแดง ใบหยักเว้าลึก 3-5 แฉก ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ มีริ้วประดับสีแดง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน สีแดงเข้ม กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง ตรงกลางดอกสีม่วงแดง สารประกอบในกระเจี๊ยบแดง มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ทำให้ปัสสาวะมีความเป็นกรด ช่วยฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ขับปัสสาวะ และตามสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย กระเจี๊ยบแดง มีรสเปรี้ยว ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในสำไส้ ลดไขมันในเลือด บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ
วิธีและปริมาณในการใช้ นำกลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ข้อควรระวัง อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดมวนท้องได้ และผู้ป่วยโรคไตในระยะที่การทำงานของไตเสียหายรุนแรง ที่มีการรักษาด้วยการล้างไต หรือฟอกเลือดอยู่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
3.บัวบก
ใบบัวบกนับว่ามีประโยชน์โดยตรงสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต เพราะมีสารสำคัญหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับระบบโลหิตโดยตรง อาทิเช่น ไตรเตอพีนอยด์(อะซิเอติโคไซ) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างคอลลาเจน เพิ่มความแข็งแรงของผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดมีความหยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดความดันโลหิตสูง และป้องกันเส้นเลือดฝอยแตกได้เป็นอย่างดี
น้ำใบบัวบกจึงมีสรรพคุณในการช่วยชะลอการเสื่อมของไต ในผู้ป่วยโรคไตได้เป็นอย่างดี ผู้ที่ดื่มน้ำใบบัวบกนอกจากจะไม่เครียดแล้วยังช่วยขยายหลอดเลือดทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเส้นเลือดฝอยเพิ่มมากขึ้น ร่างกายจะสามารถจับออกซิเจนอิสระได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เลือดสะอาด เป็นการฟอกเลือดไปในตัว
4.ขิง
ขิงเป็นสมุนไพรที่ใช้กันแพร่หลาย รู้จักกันดีถึงสรรพคุณในการกำจัดพิษไข้ และ ดื่มเพื่อบำรุงกษัย น้ำขิงร้อนๆใช้เป็นยากระจายเลือด ขับเลือดเสียได้อย่างดี วิธีใช้ไม่วุ่นวาย
ขิงที่มีสรรพคุณทางยามากต้องเป็นขิงที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป หรือขิงแก่ จะมีฤทธิ์ทางยาดีกว่าขิงอ่อนๆ พื้นบ้านใช้ดื่มเพื่อบำรุงไต เป็นชา เครื่องดื่มสุขภาพ ฝานบางๆแช่น้ำร้อนดื่ม เนื่องจาก “ขิง” มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบภายใน เพิ่มการไหลเวียนเลือด ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวมากินเชื้อโรคได้ และยังมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือดได้อีกด้วย ทำให้การไหลเวียนเลือดทำได้ดีขึ้น เป็นยาขับปัสสาวะอ่อนๆ ช่วยขับปัสสาวะที่คั่งค้างอยู่ภายใน กำจัดพิษที่ตกค้างได้ ระวังการใช้ในผู้ที่กินยาวาร์ฟาริน และผู้ที่มีอาการไข้ ร้อนในเนื่องจากเป็นยาร้อน
ข้อห้าม-ควรระวัง สำหรับผู้ป่วยโรคไตจากเบาหวาน
- ไม่ควรละเลยที่จะไปพบแพทย์ตามนัด ต้องพบตามนัดเพื่อรักษาและรับยาสม่ำเสมอ
- ควรปฏิบัติตามแผนการรักษา เช่น ไม่ควบคุมอาหาร และ รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ
- ไม่รับประทานยาหม้อ ยาสมุนไพรด้วยตนเอง เพื่อหวังรักษาโรคเบาหวานและหรือโรคไตโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้อาการของโรคเป็นมากขึ้น
สุขภาพแข็งแรงอย่างยืนที่ผู้ป่วยสามารถทำได้คือ การปรับพฤติกรรม รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ลดพฤติกรรมเสี่ยงที่จะส่งผลให้กลายเป็นโรคโตจากเบาหวาน พักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ เลี่ยงความเครียด เท่านี้ก็เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนได้
ข้อมูลอ้างอิง
- อ.นพ.ไพฑูรย์ ขจรวัชรา สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- พิมลพรรณ อนันต์กิจไพศาล. หนังสือ ยอดอาหารและสมุนไพรป้องกันไตเสื่อม.2019
- บันทึกของแผ่นดิน 11 สมุนไพรเพื่อไต
ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร