21 ก.ค. นี้ ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี สดร. เตรียมตั้งกล้องฯ ชวนส่องดาวเสาร์ – ราชาแห่งวงแหวน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย 21 กรกฎาคม 2563 “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ปรากฏสว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ นานตลอดคืนถึงรุ่งเช้า หากฟ้าใสไร้ฝนสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์ ส่องวงแหวนของดาวเสาร์ ณ 4 จุดสังเกตการณ์หลักที่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ตั้งแต่เวลา 18.00 – 22.00 น. เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์  โดยจะมีดวงอาทิตย์ โลก ดาวเสาร์ เรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี (Saturn Opposition) ห่างประมาณ 1,346 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าวเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า จะมองเห็นดาวเสาร์สว่างอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และจะสังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากดูดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 4 นิ้ว หรือมีกำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวน A และวงแหวน B แยกกันอย่างชัดเจนโดยมีช่องแบ่งแคสสินีอยู่ตรงกลางระหว่างวงแหวนทั้งสอง

คืนดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดี ปรากฏสว่างใกล้กับดาวเสาร์ในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวาร 4 ดวงได้อย่างชัดเจน

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ในรูปแบบ New Normal ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้แก่

1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353

2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา โทร. 086-4291489

3) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264  และ

4) สงขลา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โทร. 095-1450411 ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น. จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในวันและเวลาดังกล่าว

และพิเศษสุด! พบกับ Night at the Museum เปิดให้เข้าชมนิทรรศการดาราศาสตร์และท้องฟ้าจำลองรอบพิเศษ (ค่าเข้าชมท้องฟ้าจำลอง ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 30 บาท) 

หลังจากนี้ ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะปรากฏบนท้องฟ้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในช่วงวันที่ 20 – 23 ธันวาคม 2563 ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏเคียงดาวเสาร์ ใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี ห่างกันเพียง 0.1 องศา จนมองเห็นราวกับว่าเป็นดาวดวงเดียวกัน เรียกว่า “The Great Conjunction” หากใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองปรากฏอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันได้ สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณระหว่างกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวแพะทะเล ถือเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

……………………………………………