แม้ประเทศไทยจะล่วงเลยเข้ามาถึงกลางฤดูฝนแล้ว แต่ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย จำเป็นต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน และฝนทิ้งช่วง กรมชลประทาน จึงขอความร่วมมือเกษตรกรให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานเสริม รวมถึงปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำธรรมชาติ
จังหวัดกำแพงเพชร นอกจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีกล้วยไข่และขนมกระยาสารทขึ้นชื่อ ยังเป็นอีกจังหวัดหนึ่งของพื้นที่ภาคกลางตอนบนที่มีการทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก แม้จะมีแม่น้ำปิงไหลผ่าน แต่วันนี้จะเห็นปริมาณน้ำในแม่น้ำที่เริ่มลดลง หลายพื้นที่อาศัยน้ำจากชลประทานเข้ามาหล่อเลี้ยงผลผลิตการเกษตร
ดังเช่น ตำบลถ้ำกระต่ายทอง อำเภอพรานกระต่าย ซึ่งอยู่ขึ้นไปทางทิศเหนือห่างจากอำเภอเมืองกำแพงเพชร ระยะทาง 24 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่รับน้ำชลประทานจาก สบ.1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ท่อทองแดง สำนักงานชลประทานที่ 4 กำแพงเพชร เข้ามาทำนาปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง ด้วยพื้นที่ของตำบลถ้ำกระต่ายทองส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลาดเขา มีด้วยกัน 14 หมู่บ้าน แต่มีเพียง 7 หมู่บ้านที่ที่ได้ใช้น้ำจากชลประทานท่อทองแดง ที่เหลือต้องอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ น้ำฝนเป็นหลัก
นายสำลี ไพโรจน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 และในฐานะประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลถ้ำกระต่ายทอง อำเภอพรานกระต่าย เล่าให้ฟังว่า “ในการปลูกข้าวส่วนใหญ่เราต้องอาศัยน้ำจากชลประทาน ทำให้ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการแย่งชิงน้ำอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะกับพื้นที่ตำบลคุยบ้านโอง และตำบลวังตะแบก ที่อยู่ท้ายน้ำ
“แต่วันนี้สถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น หลังจากกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ชลประทานเข้ามารับการอบรมในโครงการแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ คบ.ท่อทองแดง ทำให้การทำงานในหน้าที่ของตนเองสบายขึ้น จากเมื่อก่อนต้องคอยหย่าศึกแย่งน้ำอยู่เป็นประจำ ปัจจุบันปัญหาการทะเลาะแย่งชิงน้ำเช่นเมื่อก่อนไม่มีให้เห็นอีก”
ผู้ใหญ่สำลี ย้อนเรื่องราวให้ฟังว่า เมื่อครั้งแรกที่เข้ารับการอบรมในโครงการฯ ปีที่แล้วทำให้ได้รู้จักพูดคุยกับเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำอื่นๆ ตลอดสายน้ำทั้ง 10 ตำบล และได้เรียนรู้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม การบริหารจัดการน้ำ การจัดเก็บข้อมูล รู้ปฏิทินการเพาะปลูก และการทำแผนที่น้ำ รู้จักการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง
“โดยเฉพาะการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน ได้รู้เรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ได้ฉุกคิดว่าเมื่อก่อนที่ไม่มีคลองชลประทาน แต่ชุมชนก็ไม่เคยทะเลาะแย่งน้ำ อยู่อย่างเอื้อเฟื้อพึ่งพากัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก พอฉุกคิดกันได้เราก็จัดประชุมระดมกลุ่มผู้ใช้น้ำอื่นๆ ในตำบล มาปรึกษาหารือกันถึงปัญหาและอุปสรรคการใช้น้ำในพื้นที่พร้อมกับวางแผนการจัดการน้ำเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เช่นตอนนี้ได้ประสานงานกับนายก อบต.ถ้ำกระต่ายทอง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ เพื่อที่จะจัดทำฝายกั้นน้ำโซนบนที่มีคลองรับน้ำฝนเพื่อกักน้ำเป็นสองช่วง แม้น้ำที่ได้อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการทำเกษตร แต่จะเพียงพอสำหรับใช้เป็นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคได้ เป็นต้น”
ผู้ใหญ่สำลี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มฯ ยังได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาถ่ายทอดให้กับเพื่อนเกษตรกรอื่นๆ ในชุมชน และสังเกตเห็นว่า พฤติกรรมของเกษตรกรเปลี่ยนไป เช่น จากเดิมที่ไม่ยอมรับฟังและไม่สนใจอะไร ทันทีที่ชลประทานปล่อยน้ำเข้าคลองต่างคนจะรีบสูบน้ำเข้าแปลงตัวเองจนล้น แต่ปัจจุบันเกิดความเอื้อเฟื้อจุนเจือหันมาใช้น้ำกันอย่างจำกัด ใช้น้ำเท่าที่จำเป็น เมื่อชลประทานปล่อยน้ำมาจะมีการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่หรือผู้นำกลุ่มก่อนถึงช่วงเวลาที่ควรจะสูบน้ำ และจะมีการหารือกันถึงต้นทุนน้ำที่มีจำกัดว่าควรจัดการวางแผนการผลิตอย่างไร
“เราคุยกันบนข้อมูลแทนการใช้ความรู้สึก และมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกผักสวนครัวหรือพืชอายุสั้น รวมทั้งลดการทำนาลงจากปกติที่เคยทำปีละ 2 ครั้งก็เหลือเพียงครั้งเดียว”
นอกจากพฤติกรรมการใช้น้ำที่เปลี่ยนไปแล้ว เกษตรกรกลุ่มนี้ยังได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีและสามารถดูข้อมูลระดับความชื้นดินในแปลงของเกษตรกรต้นแบบผ่าน Mobile Application ได้ โดยประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลถ้ำกระต่ายทอง กล่าวว่า นอกเหนือจากการอบรมการเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรผู้ใช้น้ำแล้ว ยังมีเครื่องตรวจวัดความชื้นในดินจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำฯ ถือเป็นโครงการที่เข้ามาจุดประกายให้เกษตรกรรุ่นใหม่เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้น เพราะเครื่องมือนี้มีประโยชน์กับเกษตรกร ทำให้ได้รู้ว่าตอนนี้ในพื้นที่มีความชื้นมากน้อยแค่ไหน และจะต้องเพิ่มปริมาณน้ำหรือไม่ เป็นโครงการที่จะช่วยการบริหารจัดการน้ำของเกษตรกรได้ครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
“การเขียนแผนการจัดการน้ำโดยกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำที่เห็นนับเป็นมิติใหม่เป็นเรื่องใหม่ของภาคเกษตร” นายอิทธิพล สนองบุญ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 หรือ สบ.1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) สำนักงานชลประทานที่ 4 จังหวัดกำแพงเพชร ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลการส่งน้ำในพื้นที่ชลประทานกว่า 250,000 ไร่ ประกอบด้วย 4 อำเภอ 17 ตำบล คือ อำเภอเมืองกำแพงเพชร อำเภอพรานกระต่าย อำเภอคีรีมาศ และอำเภอเมืองสุโขทัยบางส่วน สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า
“เมื่อก่อนเจ้าหน้าที่จะเป็นคนเขียนแผนการจัดการน้ำขึ้นจากสิ่งที่ตนเองคิดว่าสามารถตอบสนองความต้องการหรือช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้ แต่วันนี้ทุกสิ่งที่เขียนเป็นโครงการมาจากตัวเกษตรกรเอง มาจากพื้นที่เอง ตอนนี้เราเพียงเป็นผู้เอาข้อมูลหรือแผนจากที่เกษตรกรเสนอมาเพื่อที่จะให้เกิดการพัฒนาต่อไป ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่า”
นายอิทธิพล ยอมรับว่า ที่ผ่านมาทุก สบ.จะประสบปัญหาเรื่องการส่งน้ำ เรื่องน้ำขาดแคลนไม่เพียงพออยู่บ่อยครั้ง และก่อนที่โครงการวิจัยฯ จะเข้ามา เรื่องการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ชลประทานกับกลุ่มผู้ใช้ก็มีอยู่แต่ยังทำได้จำกัด พบกันเพียงกลุ่มย่อย หรือหารือกันในกลุ่มเล็กๆ ยังไม่ได้พัฒนามาถึงขั้นนี้ โครงการวิจัยได้เข้ามาช่วยในการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ทำให้เห็นศักยภาพของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้งตัวเกษตรกร แกนนำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. มีพัฒนาการในการเสนอความคิดเห็น แชร์ไอเดีย ให้คำแนะนำกับเรามากขึ้น ตอนนี้เกษตรกรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำเปรียบเสมือนเป็น“ผู้ช่วย”ที่มีความกระตือรือร้นมากขึ้น จากเมื่อก่อนเจ้าหน้าที่ฯ ประสานอะไรหรือไปพูดอะไรก็จะได้รับคำตอบแค่เท่าที่ถาม แต่ตอนนี้กลับกันเกษตรกรกล้าเข้ามาหา กล้ามาบอกความต้องการ หรือมีข้อมูลอะไรในพื้นที่ก็จะมาแจ้งทันที เรามีหน้าที่สนับสนุนและหาวิธีการตอบสนองให้เท่านั้น เหมือนเราเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล”
“ เกิดการทำงานเป็นทีมมากขึ้นระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ชลประทาน ถือเป็นโครงการที่ดี อยากให้มีการต่อยอดไปอีกหลายๆ กลุ่มในพื้นที่ เพราะเป็นโครงการที่ทำให้วิธีคิดของเกษตรกรผู้ใช้น้ำเปลี่ยนไปและเชื่อว่าเมื่อโครงการวิจัยสิ้นสุดลง แต่สิ่งที่เกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการทำงานแบบนี้แล้ว จะยังสามารถต่อยอดและรับมือกับปัญหาการจัดการน้ำต่อไปได้”
โครงการแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ โครงการท่อทองแดง จ.กำแพงเพชร เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีเป้าหมายเพื่อสร้างรูปธรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีธรรมาภิบาลในการวางแผนบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ โดยใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม เข้าไปสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ 10 ตำบล ใน 4 อำเภอของจังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างเจ้าหน้าที่ชลประทาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เข้ามาสร้างความเข้าใจร่วมกัน และทำงานไปพร้อมๆ กัน เกิดเป็นหลักสูตรที่เรียกว่า“กลไกบริหารจัดการน้ำชุมชน”เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ด้านนายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า สิ่งที่พบคือ ตอนนี้แม่น้ำปิงมีปัญหามาก ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่มีความต้องการใช้น้ำจากชลประทานระดับหนึ่ง เพื่อใช้ในการทำนา ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่ท้ายน้ำ เมื่อโครงการฯ เข้ามาได้ชวนเกษตรกรชาวบ้านเก็บข้อมูล และวิเคราะห์การใช้น้ำของชุมชน ทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นว่า การทำข้อมูลด้วยตัวเอง และมีข้อมูลเชิงประจักษ์จะนำไปสู่การลดความขัดแย้ง และการจัดการข้อมูลจะนำไปสู่ทางเลือกในการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดรับกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และนำไปสู่การเขียนแผนการจัดการน้ำ ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลในการต่อรองกับหน่วยงานทั้งในส่วนท้องถิ่นหรือชลประทานได้ และเกษตรกรสามารถปรับตัวในการลดการใช้น้ำในภาวะวิกฤตได้อย่างไร ยกตัวอย่างการเก็บข้อมูลการใช้น้ำของชุมชนในตำบลถ้ำกระต่ายทอง พบว่า นอกจากน้ำชลประทาน คบ.ท่อทองแดงแล้ว ยังมีการใช้น้ำจากแหล่งอื่นๆ เช่น จากบ่อน้ำตื้น 790 แห่ง , บ่อบาดาล 8 แห่ง , สระน้ำหรือบ่อน้ำ 183 แห่ง และฝายอีก 3 แห่ง
“การพาให้เกษตรกรเห็นว่า ถ้าเขาเข้าใจความต้องการน้ำเพื่อการผลิตของตนเองในแต่ละปีมีเท่าไหร่ และต้นทุนน้ำจริงมีเท่าไหร่ เขาจะต้องเพิ่มเติม หรือสร้างแหล่งเก็บกักน้ำของเขาเองทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีการจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล”
……………………………………………………………………