กรมควบคุมโรค เผยไทยยังไม่เคยพบเชื้อ G4 EA H1N1 แนะประชาชนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่สะอาดและได้มาตรฐาน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทยยังไม่เคยพบเชื้อ G4 EA H1N1 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่พบในจีน ข้อมูลการเฝ้าระวังในภาคปศุสัตว์ของไทยยังไม่พบเชื้อดังกล่าวในสุกร  รวมถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อจากสัตว์สู่คน จึงยังไม่น่าเป็นกังวล  แนะประชาชนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่สะอาดและได้มาตรฐาน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์ควบคุมป้องกันโรค (CDC) สาธารณรัฐประชาชนจีน และมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชื่อ G4 EA H1N1 หรือ G4 ในสุกร ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกับเชื้อไวรัส H1N1 2009 ที่เคยก่อโรคระบาดใหญ่เมื่อปี 2552 จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าเชื้อไวรัส G4 มีความสามารถในการแพร่ระบาด อีกทั้งทางสาธารณรัฐประชาชนจีนยังพบว่าเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้มีโอกาสที่จะปรับตัวและอาจแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน ก่อให้เกิดโรคระบาดได้ในอนาคต

ในเรื่องดังกล่าวนี้ กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า จากการเฝ้าระวังและติดตามการระบาดของโรคและมีการสุ่มหาเชื้อในภาคปศุสัตว์มาโดยตลอด ยังไม่พบเชื้อ G4 ในสุกรภายในประเทศไทย รวมถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อ G4 จากสัตว์สู่คน จึงยังไม่น่าเป็นกังวล อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยประชาชน จึงขอให้ประชาชนผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์จากสุกรที่สะอาด จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐาน โดยสังเกตสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” บริโภคอาหารปรุงสุกพร้อมรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล มีการป้องกันตนเองและรักษาความสะอาดอยู่เสมอเมื่อจำเป็นต้องสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์มีชีวิตหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคต่างๆ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคของประเทศไทย ที่มีความเข้มแข็งและดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค มีมาตรการในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โดยใช้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health ซึ่งเป็นการร่วมมือและประสานการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคสุขภาพคนโดยกรมควบคุมโรค   ภาคสุขภาพสัตว์โดยกรมปศุสัตว์ และภาคสุขภาพสัตว์ป่าโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยเน้นการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำอย่างเข้มแข็ง ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

……………………………………………………………………………..

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

 

 

 

 

 

 

 

 

 

.