กรมรางฯ ออกประกาศให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน และรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปิดเทอม

นายสรพงศ์  ไพฑูรย์พงษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (อขร.) กล่าวว่า จากที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 กำหนดมาตรการและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย และได้มีคำสั่งให้หารือ หรือประสานงานกับคณะกรรมการเฉพาะกิจ พิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการบริหารจัดการและการให้บริการระบบขนส่งทางราง ได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางราง ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ฉบับที่ 5 โดยปรับระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระบบขนส่งทางราง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการระบบขนส่งทางราง รวมถึงดูแลผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายและความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทาง

สำหรับรายละเอียดตามประกาศฉบับดังกล่าว ขร.ได้ยกเลิกประกาศ ขร. เรื่อง ข้อแนะนำในการปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2  และประกาศ ขร. เรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางราง ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ฉบับที่ 1 – 4 รวมทั้งได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับหน่วยงานผู้ ให้บริการระบบขนส่งทางราง และผู้โดยสาร ดังต่อไปนี้

แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง

1.เข้มงวดการทำความสะอาดจุดสัมผัส เหรียญโดยสาร ฆ่าเชื้อโรคภายในสถานี ขบวนรถ และระบบปรับอากาศ รวมทั้งให้มีการตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคภายในสถานีและในขบวนรถ

2.เพิ่มความถี่สูงสุดในการดูแลรักษาความสะอาดของระบบระบายอากาศและระบบปรับอากาศของขบวนรถให้มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเชื้อ

3.ให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ เพื่อให้บริการผู้โดยสารใช้ก่อนและหลังจากใช้ระบบ และจัดสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ภายในห้องน้ำ

4.คัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการ หากมีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส และมีความจำเป็นต้องเดินทาง ต้องมีมาตรการรองรับในการให้บริการ ดังนี้

4.1 บันทึกข้อมูลผู้โดยสาร เผื่อการสอบสวนโรค

4.2 ให้มีเจ้าหน้าที่กำกับดูแลการเดินทางจากสถานีต้นทางไปยังปลายทาง

4.3 จัดที่นั่งสำหรับผู้โดยสารที่ต้องดูแลพิเศษ (Passenger requiring special care) จำนวน 3 ที่นั่งต่อขบวนรถ โดยมีการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคภายในขบวนรถตามที่สาธารณสุขกำหนด

5.คัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการก่อนปฏิบัติงาน จัดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนดโดยเคร่งครัด พร้อมทั้งให้มีการอบรมข้อพึงปฏิบัติในการทำงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

6.กำกับดูแลให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลภายในสถานีตามที่ราชการกำหนด และไม่ให้เกิดความแออัดของผู้ใช้บริการเป็นเวลานานอันเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อ

7.บริหารจัดการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้เพียงพอสอดคล้องกับปริมาณความต้องการเดินทางในแต่ละวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น พร้อมทั้งควบคุมความหนาแน่นของผู้โดยสารภายในขบวนรถ ไม่ให้เกินร้อยละ 70 ของความจุสูงสุดของผู้โดยสาร และมีระยะห่างระหว่างบุคคลภายในขบวนรถอย่างน้อย 1 ฟุต

8.จัดทิศทางในการยืนของผู้โดยสารภายในขบวนรถไม่ให้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

9.กำกับดูแลให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ใช้บริการทั้งภายในสถานีและในขบวนรถ งดการสนทนาและงดใช้โทรศัพท์สนทนาภายในขบวนรถ ให้ผู้โดยสารใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทั้งก่อนและหลังใช้บริการ

10.จัดให้มีการใช้แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” หรือแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ภายในระบบขนส่งทางรางทั้งภายในสถานีและขบวนรถ และขอความร่วมมือผู้โดยสารให้ใช้ไทยชนะเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนโรค กรณีผู้โดยสารไม่สามารถใช้แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” หรือแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ได้ ควรมีการบันทึกข้อมูลในรูปแบบอื่นที่เหมาะสม

11.กำหนดให้มีผู้บริหารจัดการด้านความปลอดภัย (Safety Manager) รายสายทางเพื่อประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้แทนกรมการขนส่งทางรางที่ได้รับมอบหมาย ในการทำหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัย การบริการ และการปฏิบัติตามมาตรการที่ราชการกำหนด

12.ประชาสัมพันธ์ แนะนำข้อพึงปฏิบัติในการใช้บริการสำหรับผู้โดยสารเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค ทั้งภายในสถานีและขบวนรถ

แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้โดยสาร

1.สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ใช้บริการภายในสถานีและขบวนรถ

2.งดการสนทนาหรือใช้โทรศัพท์ในการสนทนาขณะอยู่ภายในขบวนรถ

3.ห้ามไม่ให้ยืนหันหน้าเข้าหากันในขบวนรถ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

4.ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือก่อนและหลังการใช้บริการระบบขนส่งทางราง

5.หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสปาก ตา และจมูก ซึ่งเป็นช่องทางการติดเชื้อโรคได้

6.ขอความร่วมมือใช้แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” หรือแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” หรือบันทึกข้อมูลในรูปแบบอื่นที่ผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางกำหนด เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนโรค

7.หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อร้องเรียนสามารถเสนอแนะให้ข้อคิดเห็นหรือร้องเรียนด้านบริการมายังกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ผ่านทางออนไลน์ Facebook: กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ขร. จะเข้มงวดตรวจสอบและติดตามการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระบบขนส่งทางรางอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชน พร้อมกันนี้ ต้องขอความร่วมมือผู้ใช้บริการระบบการขนส่งทางราง ปฏิบัติตามแนวทางและข้อกำหนดในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวอย่างเคร่งครัดต่อไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีแก่ทุกท่าน

………………………………