จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางในการเดินทางสู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเส้นทางรถยนต์สายเอเชีย เส้นทางรถไฟผ่าน 4 สถานีหลักและการคมนาคมขนส่งทางน้ำ พร้อมทั้งเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของกลุ่มบุคคลไร้ที่พึ่ง เร่ร่อน และผู้กระทำการขอทาน
ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีภารกิจหน้าที่ในการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557และพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ จากสถิติผู้รับบริการของปี 2558 มีจำนวน 46 ราย ในปี 2559 มีจำนวน 101 ราย และในปี 2560 มีจำนวน 175 ราย (ข้อมูล ณ 30 มิ.ย.60) โดยศูนย์ฯ มุ่งหวังที่จะสร้างนวัตกรรมการทำงานผ่าน Social Media โดยผ่านช่องทางไลน์ (Line Application) สำหรับในการติดต่อสื่อสารและแจ้งข้อมูลรูปพรรณสัณฐานของบุคคลไร้ที่พึ่งเร่ร่อน ผู้กระทำการขอทาน ภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้เกิดประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อให้ทราบข้อมูลที่ชัดเจนและตำแหน่งที่พบกลุ่มเป้าหมายที่แม่นยำ กล่าวคือ เมื่อประชาชนพบเห็นคนไร้ที่พึ่ง/ผู้กระทำการขอทาน แล้วแจ้งมายังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็มักจะพบปัญหาในการอธิบายรูปพรรณสัณฐานสถานที่พบ และเวลาที่พบมีความคลาดเคลื่อน ทำให้ศูนย์ฯ ลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือไม่ทันการณ์ หรือไม่พบบุคคลที่แจ้งตามสถานที่ที่ระบุ ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายเดือดร้อน
ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มไลน์ เพื่อแจ้งข่าวผู้กระทำการขอทานในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มประชาชนทั่วไป 2) กลุ่มภาครัฐ 3)กลุ่มสถานศึกษา รวมทั้งสิ้นจำนวน 274 ไลน์ พร้อมจัดการฝึกอบรมโครงการขอทานบอกที แชร์ที่ขอทาน (Cheer to share) เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานตามภารกิจกับกลุ่มเป้าหมาย โดยการอบรมเน้นที่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดเป็นพลังที่สำคัญ จำนวน 80 ราย ร่วมกับผู้สังเกตการณ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัด พม. และเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จำนวน 20 ราย กลุ่มประชาชนทั่วไป โดยผ่านประชาสัมพันธ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเครือข่าย One Home ของ พม.จังหวัด และกลุ่มภาครัฐ โดยผ่านการประชุมกรรมการจังหวัด และการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดและคณะอนุกรรมการควบคุมการขอทานจังหวัด
เครือข่ายทุกกลุ่มไลน์มีส่วนร่วมในการแจ้งพิกัดกลุ่มบุคคลไร้ที่พึ่ง เร่ร่อน และผู้กระทำการขอทานที่พบในจังหวัดฯ และศูนย์ฯพร้อมเครือข่ายสมาชิก สามารถดำเนินการลงพื้นที่และตรวจสอบสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เพื่อให้กลุ่มบุคคลไร้ที่พึ่งเร่ร่อน และผู้กระทำการขอทาน ได้รับบริการปัจจัย 4 พร้อมสวัสดิการที่เหมาะสม การแนะนำอาชีพ และการลงเยี่ยมบ้านเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ภายหลังที่ได้จัดทำโครงการฯ ทำให้เกิดความรวดเร็วและพิกัดที่ถูกต้องชัดเจนมากยิ่งขึ้น เกี่ยวกับการแจ้งข่าวบุคคลไร้ที่พึ่งเร่ร่อน และผู้กระทำการขอทานในพื้นที่ โดยเครือข่ายที่อยู่ในกลุ่มไลน์ทั้ง 3 กลุ่ม ได้มีการแจ้งข่าวเข้ามาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 66 ราย เมื่อพบบุคคลไร้ที่พึ่ง เร่ร่อน และผู้กระทำการขอทานแล้ว โดยแจ้งข่าวรายละเอียด รูปพรรณสัณฐาน พร้อมทั้งพิกัดที่พบบุคคลดังกล่าวภายหลังเมื่อเจ้าหน้าที่อ่านข้อความแล้วจะทำการตอบกลับอย่างรวดเร็วและเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบและรายงานผลการช่วยเหลือเป็นจำนวนทั้งสิ้น 65 ราย (จากยอดแจ้ง66 ราย ศูนย์ฯ ดำเนินการ 65 ราย เนื่องจากอีก 1 ราย เป็นการแจ้งนอกพื้นที่รับผิดชอบศูนย์ฯ ทั้งนี้ศูนย์ฯ ได้ประสานงานส่งต่อกับศูนย์ฯจ.สระบุรี ที่พบกลุ่มเป้าหมาย และแนะนำการให้บริการศูนย์ช่วยเหลือสังคมผ่านสายด่วน 1300) โดยใช้เวลาเฉลี่ยในการแจ้งตอบกลับในไลน์ประมาณ 3-5 นาที พร้อมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบโดยศูนย์ฯ และเครือข่ายใน 30 นาที ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการบริการปัจจัย 4 ความช่วยเหลือ และการแนะนำอาชีพได้อย่างเหมาะสม และรวดเร็ว
จะเห็นได้ว่า ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการอาศัยข้อดีของ Line Application ที่ประชาชนทั่วไปใช้กันอยู่ มาปรับใช้กับการดำเนินงานของศูนย์ฯได้เป็นอย่างดี และควรมีการขยายผลการดำเนินงานโครงการฯ นี้สู่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดต่างๆ เพื่อนำไปหนุนเสริมกระบวนการทำงานภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วารสารสานสร้างสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ