วันนี้ 30 มิ.ย. 63 ที่บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว พร้อมด้วยนายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิฯ และทีมทนายความ นักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีเด็กและเยาวชนถูกข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับข้อเสนอแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเชิงรุก
นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ ภาคประชาสังคม โดยมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ได้มาหารือเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศ เนื่องจากสถานการณ์การนำเสนอข่าวเด็กและเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอแนะต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดังนี้
1. ขอให้เร่งยกระดับงานเชิงป้องกันปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อเด็กให้เป็นการทำงานเชิงรุก โดยกระทรวง พม.เป็นเจ้าภาพบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติการตลอดจนกระตุ้นคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พัฒนาให้เกิดกลไกระดับพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ หรือคณะกรรมการคุ้มครองเด็กตำบล สอดส่อง คัดกรอง และดูแลเฝ้าระวังเด็กที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศในแต่ละชุมชน และมีระบบประสานส่งต่อการดูแลคุ้มครองเด็กที่มีความเสี่ยงหรือตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ ไปยังหน่วยงานระดับจังหวัดและระดับประเทศ ในกรณีที่สภาพปัญหามีความร้ายแรงเกินศักยภาพของกลไกชุมชนหรือจังหวัด
2. ขอให้กระทรวง พม. มีนโยบายสนับสนุนการเรียนรู้และปฏิบัติงานร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีประสบการณ์และความรู้ ความเชี่ยวชาญในการทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาระบบการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และร่วมเป็นกลไกในการทำงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่เกิดเหตุความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก ลงถึงการปฏิบัติโดยเฉพาะกระบวนการ เสริมพลัง (Empowerment) ให้เด็กและครอบครัวแปรเปลี่ยนจากฝ่ายผู้ถูกกระทำเป็นพยานผู้เสียหายคนสำคัญ ที่จะนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
3. ขอให้กระทรวง พม. เร่งออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กในกรณีความรุนแรงทางเพศ ทั้งเด็กที่เป็นผู้เสียหายและเด็กที่เป็นผู้กระทำผิด และควรมีการดำเนินการให้มีการเอาผิดกับสื่อมวลชนหรือบุคคลที่มีการนำเสนอข่าวสารข้อมูลในลักษณะที่เป็นการละเมิดบทบัญญัติของ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
นายจุติ กล่าวต่อไปว่าสำหรับข้อเสนอแนะดังกล่าว เป็นปรัชญาของกระทรวง พม. ว่า การทำงานต้องทำงานกับ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนที่ลงมือทำงานจริง และได้ไปพบกลุ่มเปราะบางและผู้เสียหายที่มีปัญหา ซึ่งขณะนี้ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ได้นำสรุปปัญหาและถอดบทเรียน โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. กับองค์กรภาคประชาสังคม จะมีถอดบทเรียน และให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) โดยบ้านพักเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ ดำเนินงานภายใน 3-6 เดือน ให้เสร็จสมบูรณ์ และทำงานอย่างมีคุณภาพ พร้อมทั้งทำงานเชิงรุก และขอให้องค์กรภาคประชาสังคมมาทำงานร่วมกันเป็นพี่เลี้ยงในช่วง 6 เดือนแรก
โดย กระทรวง พม. จะมีคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อไปเป็นพี่เลี้ยงและควบคุมคุณภาพในทุกมิติให้สมบูรณ์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความมั่นใจและมีความปลอดภัยจริง และหากเป็นผู้ถูกกระทำสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือมาที่กระทรวง พม. องค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชน รวมทั้งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ที่มีอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และหลังจาก 6 เดือน จะถ่ายทอดความรู้ให้กับ อพม. ทั่วประเทศได้รับรู้ถึงภัยต่างๆ เหล่านี้ โดยช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่อง เพื่อทำงานเชิงรุกได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางด้านมาตรการทางกฎหมาย เรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องบังคับใช้กฎหมายนั้นให้เต็มที่ต้องมีการฝึกและให้ความรู้ต่างๆ ให้กับผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายมีความกล้าที่จะบอกความจริง เพื่อที่จะรักษาสิทธิของตนเอง เมื่อใดที่สามารถรักษาสิทธิของตนเองและได้รับความยุติธรรม มีการลงโทษผู้กระทำผิด ตนคิดว่าคืออาวุธที่สำคัญที่สุด
ทั้งนี้ ขอเตือนใจคนทั้งประเทศว่า ถ้าคุณคิดที่จะล่วงละเมิดเด็ก หรือทำร้ายเด็ก ต้องให้คิดถึงผลที่จะตามมา และในวันนี้ เด็กเยาวชนจะมีกระทรวง พม. องค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชน คอยเป็นเพื่อนคุ้มครองดูแลความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด
…………………………………………………………………..