ปักหมุด 1 ก.ค. 63 ประเดิมออกอากาศวันแรก ‘ALTV: ทีวีเรียนสนุก’ สสส. – สสย. – ก่อการครู และภาคีเครือข่าย ร่วมหนุนไทยพีบีเอส สร้างแพลตฟอร์มใหม่ของสื่อสร้างสรรค์ เชื่อมโยงช่องทางการเรียนรู้ ทั้ง ‘ออนแอร์-ออนไลน์-ออนกราวน์’ มั่นใจช่วยพัฒนาเด็กไทยยุค New Normal ได้อย่างยั่งยืน
1 ก.ค. 63 นี้ Active Learning TV หรือ ‘ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก’ ปักหมุดออกอากาศวันแรก ต้อนรับเปิดเทอมใหม่ยุค New Normal โดยการดำเนินงานขององค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส ที่ได้ผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ฯลฯ ร่วมกันสร้างสรรค์สื่อเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน คุณครู ผู้ปกครอง สร้างมิติใหม่ให้เป็นช่องทางที่สามารถเชื่อมโยงได้ในมัลติแพลตฟอร์มทั้ง ‘ออนแอร์-ออนไลน์-ออนกราวน์’ มีรายการเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายครบทุกช่วงวัย ตั้งแต่กลุ่มรายการสำหรับเด็กปฐมวัย รายการสาระการเรียนรู้ที่มาในรูปแบบใหม่สนุกสร้างสรรค์ รวมไปถึงรายการเพื่อพัฒนาศักยภาพคุณครู รายการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพ่อแม่ผู้ปกครองและครอบครัว ฯลฯ
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส กล่าวว่า ALTV หรือ ทีวีเรียนสนุก เกิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งเติมเต็มระบบนิเวศความรู้ของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยหนุนเสริมและประคับประคองให้บุคคลากรทุกฝ่ายในระบบการศึกษา ไม่เฉพาะแค่เด็ก แต่รวมถึงคุณครู พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ให้มีใครต้องตกหล่น หรือหายไปในช่องว่างของชีวิตวิถีใหม่หลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ขณะเดียวกันก็เป็นสื่อสร้างสรรค์ที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทย เติบโตอย่างรู้เท่าทัน อยู่ในสังคมได้อย่างมีความรับผิดชอบ
ด้าน คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานด้านสื่อเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด กล่าวว่า ALTV นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของสื่อสร้างสรรค์ เพราะไม่ใช่แค่รายการโทรทัศน์ แต่เป็นช่องทางการเรียนรู้ที่จะมีการเชื่อมโยงร่วมกันในทุกแพลตฟอร์มทั้ง ‘ออนแอร์-ออนไลน์-ออนกราวน์’ สำหรับ สสย. นั้นมีพื้นที่ปฏิบัติการทั่วประเทศไทยภายใต้ชื่อโครงการพื้นที่นี้ดีจัง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาหนุนเสริมการเชื่อมโยงการสื่อสารของคนหลายวัยหลายกลุ่ม ทั้งเด็ก เยาวชน พ่อแม่ ครู ชุมชน ดังนั้นการเกิดขึ้นของ ALTV จึงมีความหมายมากกว่าการเกิดสถานีโทรทัศน์ แต่หากมีความหมายถึงประตูบานใหญ่ที่จะเปิดโอกาสให้คนทุกวัยได้มีช่องทางและพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกันมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ พิธีกรรุ่นใหม่อย่าง เปอร์-สุวิกรม อัมระนันท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายการ ‘กว่าจะโต’ ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการที่จะออกอากาศในช่อง ALTV แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันเรารู้กันดีว่าการศึกษาและการเรียนรู้นั้นมีมากกว่าในห้องเรียน เรามีตัวอย่างของคนจากอาชีพใหม่ๆ แปลกๆ ที่ประสบความสำเร็จในสังคมเพิ่มขึ้นมากมาย แต่หลายครั้งการเรียนรู้นอกห้องเรียนมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทำให้หลายคนขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่สนใจหรือต้องการได้ ดังนั้น การเกิดขึ้นของ ALTV จึงเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ของทุกคนให้กว้างมากยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะเด็กและเยาวชน แต่เป็นการเปิดโอกาสสำหรับคนทุกวัย เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ไร้รูปแบบและขีดจำกัด
………………………………………………