ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์น้อย มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเพียงบางแห่งเท่านั้น กรมชลประทาน จึงต้องจัดสรรน้ำตามแผนฯอย่างเคร่งครัดและจริงจัง เพราะหากไม่ดำเนินการตามแผนฯอาจทำให้เสี่ยงปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อกิจกรรมการใช้น้ำที่จำเป็นได้ วอนทุกภาคส่วนปฏิบัติตามและใช้น้ำอย่างประหยัด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(27 มิ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 30,621 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 7,345 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 40,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,652 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 956 ล้าน ลบ.ม.
ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (27 มิ.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,357 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,514 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือน้ำที่จะต้องจัดสรรอีกประมาณ 1,736 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับปริมาณน้ำไหลงลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ วันนี้(27 มิ.ย. 63)รวมกันประมาณ 41 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นรายภาค โดยภาคเหนือ จำนวน 8 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกัน 18.99 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 12 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกัน 2.30 ล้าน ลบ.ม. , ภาคกลาง จำนวน 3 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 0.23 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันตก จำนวน 2 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 4.64 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันออก จำนวน 6 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 1.15 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ จำนวน 4 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 13.31 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก
ทั้งนี้ จากสถานการณ์น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่อยู่ในเกณฑ์น้อยดังกล่าวข้างต้น กรมชลประทาน จำเป็นต้องตามแผนการจัดสรรน้ำอย่างเข้มงวด พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่แต่ละโครงการชลประทานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ลงพื้นที่ไปสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้กับประชาชนให้มากที่สุด จึงขอทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำตามแผนอย่างเคร่งครัดและอย่างประหยัดมากที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ในช่วงนี้จนกว่าจะมีปริมาณฝนตกสม่ำเสมอประมาณกลางเดือนกรกฎาคม
………………………………………………………………………………………………………
ที่มา : ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
27 มิถุนายน 2563