วันที่ 27 มิ.ย. 2563 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ และการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายประสานต์ พฤกษาชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 นายสัมพันธ์ เดือนศิริรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขตสำนักงานชลประทานที่ 7 ที่มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร และนครพนม มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 61 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 157 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2562 กว่า 9 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำในฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 229 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นจังหวัดอุบลราชธานี 13 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ จังหวัดยโสธร 3 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ จังหวัดอำนาจเจริญ 4 อ่าง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ จังหวัดมุกดาหาร 21 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 44 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ และจังหวัดนครพนม 20 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ
สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี – มูล ไว้ 8 แนวทาง ประกอบด้วย
1.) การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 7 เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการการบริหารจัดการน้ำ
2.) ตรวจสอบสภาพอาคารในลำน้ำสายหลัก คันพนังกั้นน้ำ รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน
3.) ดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
4.) บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
5.) จัดประชุมชี้แจงสถานการณ์ให้กลุ่มผู้ใช้น้ำรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบทั้งด้านเหนือน้ำและด้านท้ายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดความเสียหายในวงกว้าง
6.) ดำเนินการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
7.) เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
8.) บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 6 และ สำนักงานชลประทานที่ 8 ที่อยู่ทางตอนบนของลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่ จังหวัดอำนาจเจริญ มุกดาหาร และยโสธร อาทิ โครงการระบบกระจายน้ำพร้อมอาคารประกอบ โครงการระบบกระจายน้ำฝายลำเซบาย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นการก่อสร้างคลองส่งน้ำ 7 สาย ความยาวรวม 20.60 กิโลเมตร พื้นที่ชลประทานประมาณ 13,030 ไร่ โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยบังอี่ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที และเก็บกักน้ำได้ประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 3,000 ไร่ ปัจจุบันมีผลงานคืบหน้าไปแล้วประมาณ 45% โครงการระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยโพง (ตอนบน) อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เป็นการวางระบบท่อส่งน้ำจำนวน 5 สาย รวมความยาวทั้งสิ้น 16.340 กม. อัตราการส่งน้ำสูงสุด 1.237 ลบ.ม./วินาที พื้นที่ชลประทานประมาณ 3,190 ไร่
…………………………………………………………………………………….
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
27 มิถุนายน 2563