วันที่ 26 มิถุนายน 2563 นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงาน แผนการดำเนินงาน ผลการเบิกจ่ายและอุปสรรคของโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและงานในความรับผิดชอบของสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 2 โดยมี นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายพงษ์ศักดิ์ เลียววงศ์วาน ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 2 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมสรุปผลการดำเนินงาน พร้อมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างงานขุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมอาคารประกอบ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ณ พื้นที่หัวงานโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เป็นโครงการที่จะช่วยเพิ่มการระบายน้ำให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาประสบอุทกภัยใหญ่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มในการเกิดบ่อยขึ้น ด้วยลักษณะการไหลผ่านของแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะเป็นคอขวด ทำให้สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อชุมชนริมตลิ่งได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการระบายน้ำในช่วงดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาคอขวดของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการขุดคลองลัดเพิ่มความสามารถให้การระบายน้ำให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากอำเภอบางบาล-อำเภอบางไทร เพื่อลดผลกระทบน้ำหลากที่เกาะเมืองอยุธยา และการท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
โดยโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จะประกอบด้วย การขุดคลองระบายน้ำสายใหม่จากบริเวณ อำเภอบางบาล – อำเภอบางไทร พร้อมอาคารประกอบตามแนวคลอง ระยะทาง 22.4 กม. ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที การก่อสร้างถนนบนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง รวมความกว้างเขตคลอง 245 ม. การก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำสาขา 2 แห่ง และปลายคลองขุดใหม่ 1 แห่ง และการก่อสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาในแม่น้ำเจ้าพระยา
ซึ่ง กรมชลประทาน ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันผลการดำเนินงานในส่วนของงานขุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมอาคารประกอบ ในส่วนที่กรมชลประทานดำเนินงานก่อสร้าง กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาอุทกภัยตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเฉลี่ย 1.9 – 2.5 ล้านไร่/ปี เพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านเกษตรกรรมกว่า 229,138 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่ออุปโภค-บริโภค 25 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 48 ตำบล 3 เทศบาล 362 หมู่บ้าน และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้มีการตรวจสอบการวางแผนงานก่อสร้าง วิธีการก่อสร้าง รวมทั้งการแก้ไขปัญหา อุปสรรคระหว่างก่อสร้าง พร้อมทั้งสั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมจัดทำคู่มือผลสำเร็จของการปฏิบัติงานของโครงการฯ เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงานต่างๆ ในลำดับต่อไปได้อย่างมีผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม โดยให้มีการติดตาม ประเมินผลการก่อสร้าง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมถึงติดตามการดำเนินงานในด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เกิดประสิทธิภาพแก่ประชาชนอย่างสูงสุด
………………………………………………………