นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิธีลงนามสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ‘BGRIM’ ซึ่งผู้ร่วมลงนามประกอบด้วย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการ และนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนไป เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักของ อีอีซี เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพ” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ 3 สนามบิน สามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมทั้งเป็น “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย
โครงการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น เป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พร้อมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถรองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร ธุรกิจการขนส่งสินค้า ธุรกิจอุตสาหกรรมการบิน ศูนย์กลางธุรกิจ E – Commerce และศูนย์เทคโนโลยีด้านอากาศยาน
กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกร่วมกับ สกพอ. ได้คัดเลือก บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุ พื้นที่ 100 ไร่ เพื่อดำเนินการด้านสาธารณูปโภค โครงการงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยจะผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid Power Plant) ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generation Power Plant) โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PV Solar Farm) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดตามแนวคิดหลักของ อีอีซี มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 95 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ (Energy Storage System-ESS) ขนาด 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง และพร้อมจะจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมเมื่อสนามบินมีการพัฒนาสูงสุดและมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 95 เมกะวัตต์ และเสริมความมั่นคงด้วยการสำรองไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ความร้อนที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าได้นำมาเปลี่ยนเป็นระบบน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศสนามบิน ทำให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid Power Plant) สามารถเลือกใช้แหล่งพลังงานที่คุ้มค่าหรือมีราคาประหยัดเหมาะสม เพื่อพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพต่อเนื่อง มีพลังงานสำรอง ลดความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการภายในสนามบินอู่ตะเภาอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการ บี.กริม กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีอย่างยิ่ง ในการลงนามสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ถือเป็นโครงการสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักของ อีอีซี โดยสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งใหม่แห่งอนาคตที่จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูงและเป็นเกียรติอย่างแท้จริงของบริษัทฯในฐานะที่ บี.กริม เป็นบริษัทเอกชนไทยผู้มีส่วนร่วมในการริเริ่มการดำเนินการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆที่สำคัญให้กับประเทศไทย มาตลอดระยะเวลา 142 ปีแห่งการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา
การที่ บี.กริม ได้รับเกียรติและความไว้วางใจในการพิจารณาคัดเลือก โดยกองทัพเรือ และ สกพอ. ให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นสำหรับสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกในครั้งนี้ บริษัทฯ ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในการก่อสร้าง พัฒนา และบริหารโรงไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จให้กับพื้นที่อุตสาหกรรมชั้นนำในเขตจังหวัดพื้นที่พัฒนาของ อีอีซี มาตลอด ตั้งแต่เริ่มการพัฒนาโรงไฟฟ้าเอกชนครั้งแรกในปี 2538 นั้น BGRIM จึงมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่า บริษัทฯ จะสามารถใช้ความพร้อมและประสบการณ์อันเต็มเปี่ยมเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ให้กับสนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่พัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นการรองรับความต้องการในการใช้กระแสไฟฟ้าที่มีคุณภาพที่เพิ่มขึ้นต่อไปภายในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษแห่งนี้ได้อย่างมั่นคงตามที่บริษัทฯ ได้รับเกียรติและความไว้วางใจจากกองทัพเรือ และ สกพอ. ในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน
โดยการนี้ บริษัทฯ ยังได้รับความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นจากพันธมิตรชั้นนำระดับโลก นำโดย China Energy Engineering Corporation หรือ Energy China ซึ่งเป็นบรรษัทรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า Hybrid และ Korea Electric Power Corporation หรือ KEPCO บรรษัทรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานจากสาธารณรัฐเกาหลีให้การสนับสนุนเทคโนโลยีระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน – ESS และระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ – EMS พร้อมทั้งมี Siemens จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สนับสนุนเทคโนโลยี Gas & Steam Turbine ทั้งหมดนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า BGRIM จะสามารถสร้างระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่มั่นคง ทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีประสิทธิภาพสูงอันเป็นรากฐานต่อระบบสาธารณูปโภคหลักที่สำคัญยิ่งต่อการสนับสนุนให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้สามารถบรรลุความสำเร็จได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมไว้แล้วทุกประการ เพื่อให้สามารถดำเนินงานตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาได้ทันที โดยโรงไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid) สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนี้ จะพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) อย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2567 และถือเป็นโรงไฟฟ้าไฮบริดแบบผสมผสานเทคโนโลยีทั้ง 3 ระบบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่จะสามารถนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด มีประสิทธิภาพด้านการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพมากที่สุด ทั้งยังปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ถือเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญ ที่จะสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแห่งอนาคตให้กับสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้ตามนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
……………………………………………………………….