“อนุทิน” เผยรอผลทดลองวัคซีนโควิด 19 ในลิง หากได้ผลดีเตรียมทดลองในคน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าวัคซีนรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคนา 2019 ผลการทดลองในหนู ได้ผลดี ส่วนในลิงรอผลอีก 2 สัปดาห์ หากได้ผลดีเตรียมผลิต 10,000 โด้ส เพื่อทดลองในคน ทุ่มงบ 3,000 ล้านบาท หนุนนักวิจัยทั้งรัฐและเอกชน ให้ได้วัคซีนสำหรับคนไทย

วันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหาร หารือความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญและมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะให้การสนับสนุนทุกสถาบันในการค้นคว้าวิจัยวัคซีนโควิด 19 โดยได้จัดสรรงบจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 3,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนและร่วมทำการค้นคว้าวิจัยวัคซีนโรคโควิด 19 กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนชาวไทย โดยปัจจุบันประเทศไทยถือว่าบริหารสถานการณ์โควิด 19 ในด้านการป้องกันควบคุมสอบสวน รักษาพยาบาล และให้บริการทางการแพทย์ รวมถึงแก้ปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้ดี ซึ่งเหลือขั้นตอนสุดท้ายคือการมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับคนไทย

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า โดยในวันนี้ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอความก้าวหน้าของการทดลองวัคซีนโดยได้ทดลองในหนู ได้ผลดี ภูมิคุ้มกันเพิ่มในระดับที่น่าพอใจและขณะนี้ได้ทดลองในลิง รอบที่ 1 อยู่ระหว่างรอผล ระยะต่อไปจะเป็นการทดลองในคน สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือต้องหากลุ่มตัวอย่างทดสอบวัคซีน โดยจะมีแผนหารือความร่วมมือทดลองและผลิตในระดับอาเซียน

ด้านนายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการทดสอบวัคซีนในหนูทั้ง 2 ครั้ง พบภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น และสามารถยับยั้งเชื้อในหลอดทดลองได้ ส่วนในลิงอยู่ในระหว่างรอผลการฉีดครั้งที่ 2 คาดว่าจะทราบผลใน 2 สัปดาห์ หากผลเป็นที่น่าพอใจ โรงงานผลิตที่จองไว้ก็จะเริ่มผลิตจำนวน 10,000 โดส ถ้าเป็นไปตามแผนก็จะเริ่มที่อาสาสมัครคนไทย

อย่างไรก็ตาม การทดลองในคนต้องผ่าน อย. และกรรมการจริยธรรม นอกจากนี้ ในส่วนของประเทศไทยจะเตรียมความพร้อมโรงงานสำหรับผลิตวัคซีนในปีหน้า

………………………………………………………….