พาณิชย์ เดินหน้าผลักดันเกษตรกรไทยเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ร่วมมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ Shopee ขานรับนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ชวนเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ส่งออก ร่วมอบรมปรับวิธีคิด เปลี่ยนแนวทางการตลาด เน้นเติบโตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างความเข้มแข็ง ยกระดับสู่ความเป็นมืออาชีพ ก่อนก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมเรียนรู้เคล็ดลับปรับตัวให้อยู่รอดได้ในยุค New Normal
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขายสินค้าเกษตรออนไลน์เป็นช่องทางและโอกาสทางการตลาดที่สำคัญในการขยายฐานตลาดภายในประเทศสู่ตลาดต่างประเทศ การส่งเสริมให้เกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และพัฒนาช่องทางการค้าขายผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ
กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบาย โดยได้ร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ Shopee แพลตฟอร์ม e-Commerce มืออาชีพ จัดอบรมหลักสูตรการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) ของแพลตฟอร์ม Shopee ภายใต้ “Shopee e-Learning” ให้กับกลุ่มเกษตรกรจากสภาเกษตรกรแห่งชาติกว่า 100 ราย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรไทยมีความรู้ด้านการค้าออนไลน์ พัฒนาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถสร้างร้านค้าบนช่องทางออนไลน์ และขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งขณะนี้ มีกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ส่งออก เข้าร่วมโครงมากกว่า 50 ราย และมีสินค้าขึ้นจำหน่ายแล้วกว่า 100 รายการ
สำหรับหลักสูตรที่ใช้ในการสอนนั้น กลุ่มเกษตรกรใช้ระยะเวลาการเรียนรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือเพียง 30 นาที ก็สามารถมีร้านค้าออนไลน์ได้ทันที นอกจากนี้กรมฯ ยังได้มีการบูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดโครงการ Thai Fruits Golden Months ส่งเสริมช่องทางออนไลน์สำหรับจำหน่ายสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมียมหลายส่วนที่ไม่สามารถส่งออกไปขายยังตลาดในต่างประเทศได้ โดยสามารถซื้อผลไม้ดังกล่าวได้จากแพลตฟอร์ม e-Marketplace ชั้นนำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพด้านการตลาดและการกระจายผลผลิตไปสู่ตลาด ตลอดจนเตรียมความพร้อมเพื่อแสวงโอกาสจากการค้าเสรี เมื่อโลกเปลี่ยน การทำเกษตรยุคใหม่จึงต้องมองให้ครบรอบด้าน ตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงตลาดปลายทาง ตลอดจนให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภค และรู้จักใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับธุรกิจ รมช.พณ. กล่าวสรุป
สำหรับภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในปี 2562 มีสัดส่วนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเฉพาะ B2C (Business-to-Consumer) และ C2C (Consumer-to-Consumer) พบว่าช่องทาง e-Marketplace มีสัดส่วนร้อยละ 47 (103,400 ล้านบาท) เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 35 (57,155 ล้านบาท) Social Commerce มีสัดส่วนลดเหลือร้อยละ 38 (83,600 ล้านบาท) จากปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนร้อยละ 40 (65,320 ล้านบาท) ส่วนช่องทางทางเว็บไซต์ลดเหลือร้อยละ 15 (33,000 ล้านบาท) จากปีที่ผ่านมามีสัดส่วนร้อยละ 25 (40,825 ล้านบาท)
…………………………………………………………………………….
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
วันที่ 24 มิถุนายน 2563