วันที่ 23 มิ.ย. 63 ที่ห้องประชุม ชั้น 9 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในระดับรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 (23rd Meeting of the ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC Council) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ซึ่งจัดโดยกระทรวงแรงงาน คนพิการ และกิจการสังคม สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนในปี 2563 โดยมี คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เลขาธิการอาเซียน หัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วมการประชุม
นายจุติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีระเบียบวาระสำคัญ ดังนี้ 1) การรับทราบรายงานของประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งรวมถึงการนำเสนอแผนงานหลักในการ เป็นประธานอาเซียนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ภายใต้แนวคิดหลัก (Theme) แน่นแฟ้นและตอบสนอง Cohesive and Responsive และการพิจารณาเอกสารผลลัพธ์สำคัญภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ได้แก่ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน (ASEAN Declaration on Human Resources Development for the Changing World of Work) และขอบเขตอำนาจหน้าที่สภาการเทคนิคอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแห่งอาเซียน (Terms of Reference of the ASEAN TVET Council) 2) การรับรองร่างรายงานการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 เพื่อนำเสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และ 3) การรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ตนได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม และกล่าวแสดงความยินดีต่อนายดาว ง็อก ด่ง (Dao Ngoc Dung) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คนพิการ และกิจการสังคม สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Minister of Labour, Invalids and Social Affairs, the Socialist Republic of Viet Nam) ในโอกาสการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมทั้งรับทราบรายงานของประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งรวมถึงการนำเสนอแผนงานหลักในการเป็นประธานอาเซียน
ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามภายใต้แนวคิดหลัก (Theme) แน่นแฟ้นและตอบสนอง (Cohesive and Responsive) และการพิจารณาเอกสารผลลัพธ์สำคัญภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ตนยังได้เสนอประเด็นสำคัญ 3 ประการ ต่อที่ประชุม เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมอาเซียนตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอาเซียนได้มากขึ้น ดังนี้ 1. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศและประชาชนหลายล้านคนในอาเซียน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน 2. การแสดงความยินดีต่อการพัฒนาร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมสังคมสงเคราะห์ ซึ่งจะเป็นเอกสารผลลัพธ์สำคัญสำหรับการประชุมสุดยอด ครั้งที่ 37 ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในการนี้ ควรมีการดำเนินความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มการรับรู้และการสร้างการยอมรับต่อวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนการสนับสนุนด้านการพัฒนานักสังคมสงเคราะห์และผู้ปฏิบัติงานด้านบริการสังคมในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประโยชน์จากข้อริเริ่มที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ภาคีเครือข่ายด้านสังคมสงเคราะห์อาเซียน และศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย และ 3. ความจำเป็นของอาเซียนในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในอาเซียน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในอาเซียน ควรมีเวทีที่เป็นทางการสำหรับการมีส่วนร่วมที่ต่อเนื่องและมีความหมายสำหรับภาคประชาชนอาเซียน (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People’s Forum: ACSC/APF)