รมช.มนัญญา เยี่ยมเกษตรกรรุ่นใหม่ในจังหวัดตราดที่สมัครร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน

หนุนทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมสร้างกำลังสำคัญพัฒนาภาคการเกษตรของไทย รมช.เกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่เยี่ยมสวนเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่ในจังหวัดตราด หลังสมัครเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเวทีแลกแปลี่ยนความเห็นและสอบถามความต้องการเพื่อพัฒนาอาชีพการเกษตร เน้นการนำเทคโนโลยีทันสมัยและทำเกษตรผสมผสาน ผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัยและตลาดต้องการ พร้อมจับมือสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างช่องทางตลาดผ่านสื่อออนไลน์ หวังสร้างรายได้ให้มั่นคง สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้

นางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการ ดำเนินโครงการนำลูกหลานเกษตร กลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ในจังหวัดตราด โดยได้พบปะตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ของจังหวัดตราดที่สมัคร ร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ จำนวน 5 ราย เพื่อสำรวจและสอบถามความต้องการ มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกร  ส่วนใหญ่เห็นว่าโครงการนี้เป็นเรื่องที่ดีที่ได้ช่วยต่อยอดอาชีพการเกษตรให้กับคนรุ่นใหม่และสนใจกลับมาทำเกษตรผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ สิ่งที่ต้องการคืออยากให้ภาครัฐช่วยสนันสนุนเรื่องการแปรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และหาช่องทางตลาดมารองรับ โดยจะนำข้อมูลกลับไปวางแผนพัฒนาอาชีพการเกษตรให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจและรักในอาชีพการทำเกษตร ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของพ่อแม่มาสร้างอาชีพให้ที่มั่นคงและมีรายได้พอเพียงสำหรับเลี้ยงครอบครัว

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการนำลูกหลานเกษตร กลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร  จะสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้กลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดได้กลับบ้านอยู่กับครอบครัว และสานต่ออาชีพการเกษตรของพ่อแม่ และนำเทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและการตลาด มีการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เน้นทำน้อยแต่ได้มาก ต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ได้ผลกำไรที่คุ้มค่าและเน้นการให้มีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยจะสนับสนุนให้สหกรณ์ในพื้นที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลแนะนำอาชีพ ให้คนเหล่านี้ ซึ่งหลังจากเปิดรับสมัครโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร เมื่อวันที่ 1- 31 มกราคม 2563  มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ 7,559 ราย  และมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ  680 สหกรณ์   “ในวันนี้การลงพื้นที่เยี่ยมชมพื้นที่การทำเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่ ทำให้เห็นได้ชัดเลยว่า แต่ละคนมีความตั้งใจมุ่งมั่นในการทำการเกษตร ยกตัวอย่าง นายสราวุฒิ ไกรสมุทร อายุ 40 ปี ซึ่งเป็นผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ  นำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ เรียนจบด้านช่าง และได้ไปคุมงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ ขณะที่ครอบครัวของเขาทำสวนผลไม้ แต่ก็หยุดทำไปนานแล้ว แต่เมื่อเขาเห็นโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ ก็มีความสนใจที่จะกลับมาอยู่กับครอบครัวและนำที่ดินของพ่อแม่ประมาณ 8 ไร่ มาปรับสภาพใหม่ เพื่อทำเกษตรแบบผสมผสาน ขณะนี้ได้เริ่มปลูก ต้นทุเรียนไว้  และตั้งใจจะปลูกทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านและพันธุ์หายากอีกประมาณ 37 สายพันธุ์ เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมทุเรียนของจังหวัดตราด รวมทั้งจะปลูกข้าวไร่ในร่องทุเรียนด้วย และยังมีเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก และเน้นทำเกษตร แบบอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี มีการทำน้ำหมักและปุ๋ยไว้ใช้เอง ในอนาคตยังได้วางแผนจะทำร้านกาแฟเล็ก ๆ ในสวน เป็นแบบท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อเปิดให้คนได้มาเที่ยวและชมสวนของเขาด้วย สิ่งนี้เป็นแรงสำคัญและเป็นตัวอย่างที่ต้องผลักดันทำให้สำเร็จ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว ด้านนายสราวุฒิ ไกรสมุทร ตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ กล่าวว่า ตนมีความตั้งใจจะกลับมาอยู่บ้าน และทำเกษตรบนที่ดินของครอบครัว ขณะนี้ได้มีการพัฒนาปรับสภาพพื้นที่เพื่อวางแผนปลูกพืชผลที่สามารถเก็บขายได้ทั้งปี และจะทำเกษตรแบบปลอดภัยไม่ใช้สารเคมี จะเป็นสิ่งที่ดีกับตนเองและผู้ที่ซื้อผลผลิตของสวนแห่งนี้ไปบริโภค ซึ่งต้องทำแบบตั้งใจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่อง พร้อมทั้งจะสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรรายอื่น ๆ ในจังหวัดตราด เพื่อช่วยเหลือและแบ่งปันองค์ความรู้และตลาดร่วมกัน อยากให้ทุกคนมาร่วมกันทำ พร้อมใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทาง ในการสร้างตลาดเพื่อให้คนทั่วไปรู้จักและมีความสนใจผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่เหล่านี้มากยิ่งขึ้นในอนาคต สำหรับจังหวัดตราด มีเกษตรกรรุ่นใหม่สนใจเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ จำนวน 23 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทหรืออาชีพรับจ้างทั่วไป สนใจจะกลับมาทำเกษตรและใช้ที่ดินของครอบครัวที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ สร้างอาชีพและสานต่ออาชีพการเกษตรเลี้ยงพ่อแม่และครอบครัว ขณะนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตราดได้ติดต่อผู้สมัครเข้าร่วมโครงการและได้ออกเยี่ยมเยียนสำรวจความต้องการความรู้ของผู้สมัครแล้ว  พบว่ามีความต้องการให้มีการอบรมถ่ายทอดความรู้ในสาขาต่าง ๆ เรียงตามลำดับความสนใจ ได้แก่ เกษตรผสมผสานเกษตรอินทรีย์เทคโนโลยีการเกษตร เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำการปรับปรุงการผลิตการเกษตร ทักษะการเกษตร และการบริหารจัดการธุรกิจการเกษตร เป็นต้น

โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ มุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่ได้กลับมาอยู่กับครอบครัว มาสืบสานอาชีพ ทำการเกษตร ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้ามาดูแลและร่วมกับสหกรณ์ในพื้นที่ช่วยวางแผนเพื่อพัฒนาอาชีพ ความต้องการ โดยมีหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร และคาดหวังว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรให้เจริญก้าวหน้า และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำหรือผู้บริหารสหกรณ์การเกษตรในแต่ละจังหวัด นำความรู้ความสามารถมาช่วยพัฒนาและดูแลสหกรณ์ให้เป็นองค์กรที่เข้มแข็งและเป็นที่พึ่งพาของเกษตรกรและคนในชุมชนได้

 

…………………………………………………………………….