นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดโครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 197 คน โดยเริ่มจัดอบรมตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2563 ณ หน่วยดำเนินการพัฒนาสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา และหน่วยดำเนินการพัฒนาของสถาบันการอาชีวศึกษา รวมทั้งสิ้น 17 แห่ง เพื่อให้ผู้เข้ารับการพัฒนาได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ มีเจตคติที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพที่เหมาะสม รวมถึงมีภาวะความเป็นผู้นำ มีพฤติกรรมเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและมีความก้าวหน้าแก่งานราชการ
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาในครั้งนี้เป็นการดำเนินการครั้งแรกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องมีการพัฒนาสมรรถนะรองผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 122 ชั่วโมง โดยมีขอบข่ายเนื้อหา 3 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 คุณลักษณะรองผู้อำนวยการสถานศึกษาที่พึงประสงค์ หมวดที่ 2 ภาวะผู้นำทางวิชาการและวิชาชีพ หมวดที่ 3 การบริหารและการจัดการในสถานศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งหลังจากนั้นจะเป็นการฝึกประสบการณ์ในสถานศึกษาต้นแบบ เพื่อเพิ่มประสบการณ์และทักษะการบริหารงาน ตามด้วยการศึกษาดูงานในสถานศึกษาต้นแบบที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาทั้ง 3 หมวด ซึ่งมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐภายนอกมาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ รวมไปถึงอดีตผู้บริหารของ สอศ. ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ด้านการบริหารงานสถานศึกษา ด้านบุคลากร ด้านการคลังและพัสดุ ด้านการวางแผน มาให้ความรู้ เติมเต็มและถ่ายทอดประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างดีมาแล้ว
เลขาธิการ กอศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้การจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ได้ถูกหยิบยกมาเป็นวาระสำคัญเพราะถือได้ว่าผู้ที่เรียนจบจากอาชีวศึกษา เป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการผลิตและบริการของประเทศ สอศ.จึงต้องมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีวิสัยทัศน์มาช่วยผลักดันและบริหารจัดการให้การจัดการอาชีวศึกษาก้าวหน้าพัฒนาต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ผู้ที่เป็นรองผู้อำนวยการสถานศึกษา เปรียบเสมือนแม่บ้านของสถานศึกษา ต้องประสานงานกับบุคคลหลายระดับทั้งภายในและภายนอก จะต้องเป็นบุคคลที่มีความพร้อม มีความเสียสละ มีความยืดหยุ่น และต้องรู้จักแสวงหาวิธีการทำงานเพื่อให้เกิดผลดี ต้องเรียนรู้และมีความชัดเจนในสถานะของตนเอง ที่ต้องเพิ่มเติมมากขึ้นคือ เรื่องของทักษะการสื่อสารกับคนรอบข้าง การปรับเปลี่ยนตนเองให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง สามารถนำนโยบายของรัฐบาล ของกระทรวงศึกษาธิการ และของสอศ. ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
“ขอฝากการบ้านให้รองผู้อำนวยการที่เข้ารับการพัฒนาในครั้งนี้ ไปช่วยกันคิด ช่วยกันหากลยุทธ์ในการจัดการเรื่องการศึกษาอาชีวศึกษา 2 เรื่อง คือ เรื่องปริมาณผู้เรียน และเรื่องคุณภาพของการจัดการศึกษา เพราะการพัฒนาประเทศไปสู่ความเข้มแข็ง ต้องใช้บุคลากรที่มีคุณภาพ บุคลากรที่มีคุณภาพต้องมาจากผู้ที่จบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ นั่นหมายถึงสถานศึกษาอาชีวศึกษาก็ต้องมีคุณภาพและมีปริมาณผู้เรียนเพียงพอที่จะออกไปพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน” เลขาธิการ กอศ. กล่าวปิดท้าย
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.