ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยคณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน ได้จัดทำและส่งมอบ “หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย” และ “คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” (สำหรับนักเรียน 5 ช่วงชั้น ได้แก่ ระดับปฐมวัย ประถมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย) ให้แก่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พร้อมกับการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานนำหลักสูตรและคู่มือดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา นั้น
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ไม่นานมานี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำ “หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย” และ “คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความตระหนักและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน
ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่า หลายหน่วยงานได้มีหนังสือตอบ ครม. เพื่อแจ้งการดำเนินการหรือแผนดำเนินการในการนำหลักสูตรและคู่มือดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว อาทิ กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับสำนักงาน กสม. จัดอบรมครูทุกจังหวัดใน 6 ภูมิภาค ในการนำคู่มือไปใช้ในการเรียนการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอันเชื่อมโยงกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และสามารถสร้างวิทยากรครูเพื่อเผยแพร่เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาได้ระยะแรกแล้ว จำนวน 1,125 คน กระทรวงยุติธรรม ได้นำหลักสูตรการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปทดลองใช้กับสถานศึกษาและจะขยายผลไปทั่วประเทศ สำนักงาน ก.พ. เห็นควรให้มีการสอดแทรกรายละเอียดเนื้อหาสาระที่ปรากฏในหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ในหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการและบุคลากรภาครัฐทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกระดับ ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองคดีอาญา เห็นควรนำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาไปประยุกต์ในการเรียนการสอนของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือ การอบรมข้าราชการตำรวจหลักสูตรต่างๆ เป็นต้น
“ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การล่วงละเมิดเด็กและเยาวชน การบังคับให้บุคคลสูญหาย ผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ หรือธุรกิจของเอกชน สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนในสังคมยังขาดความตระหนักรู้และการเคารพในสิทธิมนุษยชนของกันและกัน ดังนั้น “สิทธิมนุษยชนศึกษา” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการวางรากฐานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทยในทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกภาคส่วนของสังคม และเป็นที่น่ายินดีว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตอบรับการนำหลักสูตรและคู่มือการจัดการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาไปใช้ประโยชน์ตามที่ กสม. เสนอแนะแล้ว หลังจากนี้ กสม. จะเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรและคู่มือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมุ่งหวังว่าเครื่องมือด้านสิทธิมนุษยชนศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงเพื่อการร่วมสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป” นางประกายรัตน์ กล่าว
อนึ่ง หน่วยงานที่เห็นชอบแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและมีข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาหลักสูตรและคู่มือตอบกลับมายัง ครม. ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองคดีอาญา) สำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า
……………………………………………………………………………………………………..
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
20 มิถุนายน 2563