ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ช่วงฤดูฝนมักมีอากาศเย็นและชื้น เสี่ยงธาตุลมในร่างกายแปรปรวนแนะใช้ผักพื้นบ้านปรุงเป็นอาหารป้องกันโรค
นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยในช่วงฤดูฝนสภาพอากาศจะเย็นและชื้น มักส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย โดยเฉพาะธาตุลม (ระบบการไหลเวียนโลหิตและการส่งสัญญาณของระบบประสาท) ทำให้เกิดการติดขัดหรือส่งผลให้ทางเดินของลมไม่สะดวก มีการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากธาตุลมเป็นต้นเหตุ เช่น อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยครั่นเนื้อครั่นตัว หรือเป็นไข้หวัดได้ ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือนเป็นคนธาตุลม (ผู้ที่เกิดในระหว่างเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน) และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้มีโรคประจำตัว หากดูแลสุขภาพไม่ดีอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรืออาการของโรคกำเริบได้
จึงขอแนะนำประชาชนอย่ามองข้ามภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านมาปรุงอาหาร เพื่อป้องกันโรคในช่วงหน้าฝน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้เน้นการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ แมงลัก กระเทียม เป็นต้น เมนูอาหารที่แนะนำ ได้แก่ ต้มยำ ยำผักสมุนไพร ไก่ผัดขิง เป็นต้น ส่วนน้ำสมุนไพรที่แนะนำ ได้แก่ น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำกระชาย เป็นต้น ซึ่งสมุนไพรรสเผ็ดร้อนจะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ช่วยขับลมบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้วิงเวียนศีรษะได้ดี
นอกจากการนำพืชผักสมุนไพรมาปรุงเป็นอาหาร เพื่อป้องกันโรคในช่วงฤดูฝนแล้ว ควรรักษาสุขภาพของตนเองให้ดี รักษาความอบอุ่นของร่างกาย หลีกเลี่ยงการตากฝนหรือสัมผัสกับละอองน้ำฝน ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และรับประทานให้ครบ 3 มื้อ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยได้อีกทางหนึ่ง หากเกิดข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กองวิชาการและแผนงาน โทร 0 2149 5678
……………………………………………………………………………………