นำร่องเป็นต้นแบบของภาคธุรกิจเป็นรายแรกของไทย มุ่งเพิ่มความสามารถการแข่งขันรับฟินเทคในอนาคตเอสซีจี จับมือธนาคารแห่งประเทศไทย และดิจิทัล เวนเจอร์ส ร่วมลงนามเพื่อพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินของภาคเอกชนโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการซื้อ และการชำระเงินของภาคธุรกิจ ลดขั้นตอนและระยะเวลาการทำธุรกรรมทางการเงิน สร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ เสริมศักยภาพทางการแข่งขัน และรองรับนวัตกรรมด้านการเงิน (Fintech) ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีรู้สึก มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และริเริ่มการพัฒนาระบบโครงสร้างการชำระเงินของภาคเอกชนโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมา เอสซีจีได้ร่วมมือกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินชั้นนำ ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง – วางบิล – ชำระเงินแบบครบวงจร หรือ ที่เรียกว่า “B2P” (Blockchain Solution for Procure-to-Pay) ซึ่งสามารถช่วยลดระยะเวลาการดำเนินงานต่อรายการได้ร้อยละ 50 และลดต้นทุนต่อรายการได้ร้อยละ 70 ทำให้ปัจจุบัน มีคู่ธุรกิจที่เข้าใช้งาน บนแพลตฟอร์มนี้แล้ว กว่า 4,500 ราย ภายในระยะเวลา 2 ปี
การลงนามความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินของภาคเอกชนโดยใช้ CBDC ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้องค์กรและคู่ธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเอสซีจี ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุค New Normal ด้วยการเร่งพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือ ที่เรียกว่า Digital Transformation โดยเปิดโอกาสให้องค์กรชั้นนำ พาร์ทเนอร์ที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญทั่วโลก มาร่วมเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ร่วมกัน”
…………………………………………………………………………….