นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันที่ 17 มิ.ย. 2563 ว่า จากปัญหาสงครามการค้าจีนและสหรัฐอเมริกา ตลอดจนปัญหาภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดยางพาราทั่วโลก และรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางในประเทศไทย รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงดำเนินมาตรการและโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางและโครงการเยียวยาเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 1.8 ล้านราย ระหว่างปี 2562 – 2563 เป็นวงเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมาตรการอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น
นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากปัญหาผลกระทบการค้าและวิกฤติโควิด-19 ทำให้ชาวสวนยางประสบความเดือดร้อน รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาความเดือดร้อน ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้จากการขายยางเท่ากับราคาประกันรายได้ เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของครอบครัว โดยประกันรายได้ยางแผ่นดิบ 60 บาท น้ำยางสด 57 บาท ยางก้อนถ้วย (DRC50%) 23 บาท ประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึง มีนาคม 2563 เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทยก่อน 12 สิงหาคม 2562 จำนวน 1,711,252 ราย ในพื้นที่เปิดกรีด 17,201,390 ไร่ รวมเป็นเงิน 26,626,526,863 ล้านบาท
“เกษตรกรชาวสวนยางขอขอบคุณรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรี ที่ดูแลใส่ใจพี่น้องชาวสวนยางทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนกรีดยาง และชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ผู้ด้อยโอกาสที่สุดให้ได้รับเงินเยียวยา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของครอบครัวในยามวิกฤตเช่นนี้ โดยเฉพาะพี่น้องชาวสวนยางบัตรสีชมพูจำนวน 300,000 ราย สามารถเข้าร่วมโครงการได้ สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ซึ่งกำลังเข้าสู่การขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า งบประมาณ 31,000 ล้าน มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทยภายใน 15 พฤษภาคม 2563 เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,834,087 ราย ในพื้นที่เปิดกรีด 18,286,186 ไร่ โดยเริ่มโครงการเดือนสิงหาคม ถึง ธันวาคม 2563” เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าว
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ได้อนุมัติกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมคือ กลุ่มเกษตรกรที่ด้อยโอกาส และยังไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรกรจำนวน 137,093 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่มีทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย 66,960 ราย และเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรอีก 70,133 ราย ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียน และแจ้งข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทยจำนวน 1,817,723 ราย แบ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ 1,478,463 ราย และเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 339,260 ราย ได้รับการเยียวยาจากผลกระทบโควิด19 ในครั้งนี้ถ้วนหน้า
……………………………………………………………………