กรมคุมประพฤติลงนาม MOU ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ขับเคลื่อนมาตรการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

ศาลอาญา ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กรมคุมประพฤติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล  ลงนาม MOU ขับเคลื่อนมาตรการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องโทษปรับที่ไม่มีเงินเสียค่าปรับ ไม่ต้องถูกกักขัง เป็นการลดความแออัดและความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 พร้อมเผยสถิติทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ 5,697 คดี เป็นเงินค่าปรับสูงถึง 200 ล้านบาท

วันที่ 16 มิถุนายน 2563 นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา” ร่วมกับนายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม พลตำรวจโทโสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ และพลตำรวจตรีสุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อขับเคลื่อนการนำมาตรการในการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับมาใช้ในศาลชั้นต้นทุกแห่งเพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น โดยมีนางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 10 อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า กรมคุมประพฤติ เป็นหน่วยงานที่ดูแลและดำเนินการจัดให้ผู้ที่ต้องโทษปรับ ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับตามคำสั่งศาล ร่วมกับหน่วยงานภาคีจำนวนกว่า 18,174 แห่งทั่วประเทศ โดยสถิติคดีที่ศาลสั่งทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 – 31 พฤษภาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,697 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีพ.ร.บ.ยาเสพติด คดีพ.ร.บ.จราจรทางบก และคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ทั้งนี้ หากนับรวมชั่วโมงทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับทั้งหมด เป็นจำนวน 1,252,251 ชั่วโมง รวมเป็นเงินค่าปรับสูงถึง 223,294,409 บาท ซึ่งกรมคุมประพฤติเล็งเห็นว่า รูปแบบการทำงานบริการสังคมควรสอดรับกับทักษะความรู้ของผู้กระทำผิดและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม อาทิ งานซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับสถานศึกษา หรือศาสนสถาน การดูแลผู้ป่วยในสถานสงเคราะห์ การสอนหนังสือที่ศูนย์การศึกษานอกระบบ รวมทั้งการพัฒนาปรับภูมิทัศน์ให้กับหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานท้องถิ่น การทำแนวกันไฟ สร้างฝายชะลอน้ำในเขตอุทยาน เป็นต้น

ทั้งนี้ การทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการควบคุมดูแลผู้กระทำผิดที่ได้รับโทษกักขัง ลดความแออัดและความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ในสถานกักขัง อีกทั้ง ยังเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้เกิดจิตสำนึกที่ดีและเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

อนึ่ง การทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ เป็นทางเลือกของผู้ต้องโทษปรับที่ไม่มีเงินเสียค่าปรับ โดยให้ทำงานบริการสังคมทดแทนสังคม ชุมชน หรือองค์กรสาธารณกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยถืออัตราหักค่าปรับวันละ 500 บาท สำหรับการทำงานแต่ละประเภทจะกำหนดชั่วโมง ออกเป็น งานช่วยเหลือดูแลอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ คนชรา งานวิชาการ หรืองานบริการสถานศึกษา ใช้เวลา 2 ชั่วโมง งานช่างฝีมือหรืองานที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ ใช้เวลา 3 ชั่วโมง และการทำงานบริการสังคมอื่น เช่น งานพัฒนาปรับภูมิทัศน์ ใช้เวลา 4 ชั่วโมง เทียบเท่ากับระยะเวลา 1 วัน

…………………………………………………………………………………………