ไบโอเทค สวทช. จิสด้า และ JAXA ผนึกกำลังปลูกผลึกโปรตีนบนสถานีอวกาศสำเร็จแล้ว!

หลังจากที่ประเทศไทย ได้ส่งงานวิจัยสัญชาติไทย “การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย” ของ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศและการทดลองในอวกาศ National Space Exploration หรือ NSE ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ให้ทำการทดลองในสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS ไปเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว มาวันนี้งานวิจัยดังกล่าวสำเร็จได้ผลึกโปรตีนที่มีคุณภาพพร้อมใช้ในการศึกษาต่อเพื่อการออกแบบยาต้านมาลาเรียต่อไป

ดร.ชัยรัตน์ฯ หัวหน้างานวิจัยฯ เปิดเผยว่า การตกผลึกโปรตีนมีความสำคัญตรงที่เราจะเห็นโครงสร้างของตัวโปรตีนที่เป็นเป้าหมายของยาอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เราสามารถออกแบบตัวยาที่จะสามารถจับกับโปรตีนตัวนี้ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเราเห็นตัวโครงสร้างที่ชัดเจน เปรียบเสมือนเราเห็นตัวแม่กุญแจแล้วเราหาลูกกุญแจไปจับเพื่อให้มันเหมาะสม โดยการตกผลึกโปรตีนในอวกาศจะได้ตัวผลึกที่มีคุณภาพที่ดีกว่าการตกผลึกโปรตีนบนพื้นผิวโลก เพราะในอวกาศไม่มีแรงโน้มถ่วง ตัวผลึกก็สามารถสร้างได้แบบธรรมชาติที่สุดในตัวของมันเองและผลการตกผลึกครั้งนี้ก็ออกมาดีเกินคาด หลังกลับมาจากการทดลองในสถานีอวกาศฯ ผลึกโปรตีนได้ถูกส่งต่อไปยังองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA เพื่อทำการทดลองต่อโดยการยิงแสงซินโครตรอนเพื่อดูการกระเจิงของแสง สิ่งที่เราต้องการคือข้อมูลการกระเจิงของแสง แล้วเอาข้อมูลมาคำนวณสร้างเป็นโครงสร้าง 3 มิติของโปรตีนในคอมพิวเตอร์ เพื่อดูว่าหน้าตาเป็นอย่างไร มีช่องไหนที่สามารถนำมาใช้ออกแบบสารเคมี (ยา) ที่สามารถจับกับโปรตีนตัวนี้ได้ดี โดยโปรตีนตัวนี้มีความสำคัญต่อเชื้อ ถ้าเรายับยั้งการทำงานของโปรตีนตัวนี้ได้เชื้อมาลาเรียก็จะตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการวิจัยต่อไป จุดมุ่งหมายสุดท้ายของภาพรวมทั้งหมด เราตั้งใจที่จะหายาในการต้าน “มาลาเรีย” ดร.ชัยรัตน์กล่าว

ทางด้าน คุณโยชิซากิ อิสุมิ หัวหน้าทีมส่งโปรตีนไปอวกาศจาก JAXA กล่าวว่า “ทางเราได้ดำเนินการเติมสารละลายโปรตีน ณ ฐานยิงจรวด ศูนย์อวกาศเคนเนดี้ ก่อนที่จะทำการส่งเพียงไม่กี่ชั่วโมง เพื่อป้องกันการทำปฏิกิริยาก่อนของสสาร จึงทำให้ได้ผลึกอวกาศที่มีคุณภาพและสมบูรณ์มาก โดยจะส่งข้อมูลการกระเจิงของแสงและผลการฉายแสงซินโครตรอนกับโครงสร้างผลึกอวกาศให้จิสด้า ภายในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้”

ในขณะที่ ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู หัวหน้าโครงการ NSE ของจิสด้า กล่าวว่า การทดลองดังกล่าวของ ดร.ชัยรัตน์ฯ แม้ว่าจะยังไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวยาต้านโรคมาลาเรียได้ในตอนนี้ แต่เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถพัฒนาได้ต่อไปในที่สุด เนื่องจากว่า ข้อมูลผลึกโปรตีนจากอวกาศที่ได้มานั้นมีความสำคัญที่สุดในการพัฒนาตัวยา และนี่เป็นเหตุผลที่โครงการ NSE ของจิสด้า ได้คัดเลือกเอางานวิจัยดังกล่าวส่งไปทดลองในอวกาศ

ดร.อัมรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ โครงการ NSE ยังมีงานวิจัยที่จะรอส่งไปทดลองในอวกาศอีกหลายงานวิจัย อาทิ การทดลองคุณภาพอาหารไทยในอวกาศ, การทดลองปลูกพืชเพื่อเป็นแหล่งอาหารในอวกาศ หรือการทดลองเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันรังสีคอสมิกจากอวกาศ เป็นต้น ซึ่งแต่ละงานวิจัยจะเป็นการส่งเสริมวิทยาศาสตร์อวกาศในประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งวางรากฐานให้กับ New Space Economy ต่อไป โดยจิสด้าพร้อมที่จะผลักดัน และเดินหน้าเต็มกำลังในเรื่องการสำรวจอวกาศของประเทศ โดยจะทำหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมกันมุ่งนำประโยชน์จากอวกาศมาใช้เพื่อการวิจัยและพัฒนา ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการสร้างธุรกิจใหม่และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอวกาศได้ต่อไป ซึ่งสอดรับกับนโยบายการดำเนินงานของ อว. ด้วย

…………………………………………………………………………………………………….