‘ไทย-ยูเค’ หารือยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตหลังเบร็กซิท พร้อมเร่งจัดทำรายงานทบทวนนโยบายการค้าร่วมกัน ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ปูทางพิจารณาจัดทำ FTA ชี้โอกาสไทยเข้าไปลงทุนหลายสาขา อาทิ เกษตรกรรม-การผลิตอาหาร และประมง ด้านยูเคได้ขอสมัครเป็นคู่เจรจาของอาเซียน ให้สามารถร่วมประชุมอย่างเป็นทางการได้ ซึ่งอยู่ระหว่างสมาชิกอาเซียนพิจารณา
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังประชุมผ่านระบบทางไกล (virtual meeting) กับนางแคทริน ลอว์ รักษาการอธิบดีด้านการค้าทวิภาคี กระทรวงการค้าระหว่างประเทศของ สหราชอาณาจักร (ยูเค) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่าทั้งสองฝ่ายได้หารือเรื่องการกระชับและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยูเค หลังจากที่ยูเคจะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 มกราคม 2564 และได้แลกเปลี่ยนความคืบหน้าการจัดทำรายงานทบทวนนโยบายทางการค้า (Trade Policy Review) เพื่อปูทางยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต ภายหลังเบร็กซิท
สำหรับการจัดทำรายงานทบทวนนโยบายการค้า คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะแลกเปลี่ยนผลสรุปรายงาน และนำไปจัดทำรายงานสรุปร่วมกัน โดยตั้งเป้าหมายจัดทำให้เสร็จสมบูรณ์ ภายในปีนี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้ระดับนโยบายของทั้งสองประเทศใช้ประกอบการพิจารณา ยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป และอาจปูทางในการจัดทำ FTA หากทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมและเห็นว่าเป็นประโยชน์
นางอรมน เสริมว่า ในส่วนของไทย เบื้องต้นได้สำรวจโอกาสและปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกิจกับยูเค พบว่า สาขาธุรกิจที่ไทยสนใจเข้าสู่ตลาดยูเค อาทิ เกษตรกรรมและการผลิตอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ผลไม้ อาหารเสริม และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น การประมง ประเภทอาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การท่องเที่ยว การขนส่ง การเงิน โทรคมนาคม และการก่อสร้าง โดยยูเคยังคงมีมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของไทย เช่น มาตรการสุขอนามัย และมาตรฐานทางเทคนิคที่มีมาตรฐานสูง เป็นต้น ส่วนยูเคสนใจทำธุรกิจและลงทุนในไทย อาทิ สาขาเภสัชกรรม บริการการเงินและการประกันภัย บริการวิชาชีพ (กฎหมายและบัญชี) และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าในช่วงวิกฤติโควิด-19 และปัญหาในเวทีองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งขณะนี้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ในส่วนองค์กรอุทธรณ์ได้หยุดชะงักลง เพราะไม่สามารถเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ 6 ใน 7 ตำแหน่งที่ว่างลงได้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจะต้องร่วมกับสมาชิก WTO เร่งทำงานเพื่อหาทางออกต่อไป ทั้งนี้ ยูเคแจ้งว่าได้ยื่นความจำนงขอสมัครเป็นคู่เจรจา (Dialogue Partner) ของอาเซียน เพื่อให้สามารถเข้าร่วมประชุมกับอาเซียนอย่างเป็นทางการได้ ซึ่งขั้นตอนต่อไปอยู่ระหว่างสมาชิกอาเซียนพิจารณา โดยปัจจุบันสมาชิกอาเซียนมีคู่เจรจา (Dialogue Partner) อยู่ 10 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป รัสเซีย แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าไทยกับยูเค มีมูลค่า 6,260 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยูเค มูลค่า 3,843 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 2,417 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2563 การค้ารวมมีมูลค่า 1,904.83 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 1,138.45 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 766.38 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกล ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
…………………………………………………………………………………………………..
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์