Airbnb ชี้สัญญาณท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์

Airbnb จับสัญญาณท่องเที่ยวไทย ชี้ฟื้นตัวแรงหลังคลายล็อกดาวน์ เผยยอดจองที่พักสำหรับท่องเที่ยวภายในประเทศไทยพุ่งขึ้นเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 พบเติบโตถึง 13% จุดหมายปลายทางยอดนิยมได้แก่ กรุงเทพฯ หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ และเพชรบุรี ตอกย้ำชัดเจนถึงการเป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจท่องเที่ยวในท้องถิ่นและชุมชน มีส่วนช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศ


Airbnb เปิดเผยข้อมูลล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการกลับมาของการท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังผู้คนเริ่มออกเดินทางอีกครั้ง จากข้อมูลการสำรวจของ Airbnb ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 6 มิถุนายน 2563 มียอดจองการท่องเที่ยวในภายในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 เมื่อเปรียบเทียบเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา แม้การเดินทางจะหยุดชะงักไปช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่จากข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าผู้คนยังอยากที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวเช่นเคย และคาดว่าการท่องเที่ยวภายในในประเทศกำลังฟื้นตัวและเติบโตสูงในเวลาอันใกล้นี้


มิสเตอร์เซียว คัม ฮอง ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
Airbnb เปิดเผยว่า “Airbnb เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะการเดินทางไปพักผ่อนในวันหยุดที่จุดหมายใกล้บ้าน จากข้อมูลใหม่ล่าสุดทำให้เราเชื่อมั่นมากขึ้นว่านักเดินทางต่างมองหาประสบการณ์ท้องถิ่นที่เข้าถึงได้ง่าย มีความเป็นเอกลักษณ์ และราคาไม่แพงเกินเอื้อม การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซี่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวได้เร็ว Airbnb มีความยินดีที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาล องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศไทยเพื่อช่วยพื้นฟูการท่องเที่ยวด้วยวิธีที่รับผิดชอบต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนในท้องถิ่นและธุรกิจขนาดเล็กซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไวยิ่งขึ้น”

ขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวในประเทศได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะจุดหมายปลายทางที่ใช้เวลาเดินทางในระยะสั้น นอกจากประเทศไทยแล้ว การท่องเที่ยวภายในประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีการขยายตัว ซึ่งเห็นได้จากยอดจองที่เพิ่มขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทั้งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยในเดือนพฤษภาคมการจองที่พักของ Airbnb กว่าร้อยละ 60 เป็นจุดหมายไกลจากตัวเมือง

จากข้อมูลล่าสุดของ Airbnb ที่ทำการสำรวจการจองที่พักในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่าจุดหมายปลายทางยอดนิยม ได้แก่ กรุงเทพ หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ และเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดหมายที่ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองถึงร้อยละ 45

นอกจากนั้น ระหว่างวันที่ 18-24 พฤษภาคม 2563 มียอดการจองที่พักสำหรับการเดินทางในประเทศเป็นจำนวนหลายคืนบนแพลตฟอร์ม Airbnb ทั่วโลก ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายนที่ผ่านมา มีมูลค่าการจองที่พักโดยรวมสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ เพื่อตอบรับความต้องการในการเดินทางระยะใกล้นี้ Airbnb จะมีการอัปเดตแอปพลิเคชั่นและหน้าเว็บไซต์เพื่อช่วยให้นักเดินทางสามารถค้นหาสถานที่แปลกใหม่ใกล้บ้านด้วยการจองทริปท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงฟีเจอร์การจองอย่างเร่งด่วนอีกด้วย

แม้ว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกจะชะลอตัว แต่ Airbnb ยังมีศักยภาพช่วยสามารถสร้างเม็ดเงินกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นในแต่ละประเทศ โดยในปี 2562 Airbnb ได้มีส่วนหนุนเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดหลักกว่า 30 แห่งทั่วโลกให้เติบโต ด้วยมูลค่ารวมกันถึง 117 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปี 2561

นอกจากนั้น ชุมชนเจ้าของที่พักและนักเดินทางของ Airbnb ในประเทศไทยได้สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจกว่า 40,000 ล้านบาท ในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจ Airbnb Compact Survey ปี 2562 ระบุว่า ร้อยละ 80 ของนักเดินทาง Airbnb ที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยกล่าวว่า เจ้าของที่พัก Airbnb ได้แนะนำสถานที่ภายในละแวกที่พวกเขาพักอยู่หรืออยู่ไม่ไกลจากแถวที่พัก จากการสำรวจเดียวกันยังพบว่า 5 อันดับที่นักเดินทาง Airbnb ใช้จ่ายไปมากที่สุด ได้แก่ ร้านอาหาร จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท, การช้อปปิ้ง จำนวน 5.5 พันล้านบาท, ความบันเทิง จำนวน 5.5 พันล้านบาท, การเดินทาง จำนวน 4.6 พันล้านบาท และการซื้อข้าวของเครื่องใช้ทั่วไป จำนวน 4.4 พันล้านบาท

วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการท่องเที่ยวให้ต่างไปจากเดิม ทั้งนี้ Airbnb สนับสนุนให้เจ้าของที่พักและนักเดินทางมีความรับผิดชอบต่อสังคมและปฏิบัติตามข้อบังคับและคำแนะนำของหน่วยงานทางการในแต่ละประเทศเมื่อออกเดินทาง

………………………………………………………………………………….