กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แนะแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุติดเตียงสำหรับผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) และญาติที่ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันโรคโควิด 19
วันที่ 11 มิถุนายน 2563 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการเยี่ยมเสริมพลังตำบลที่มีการดำเนินงานระบบส่งเสริมสุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคง่ายกว่ากลุ่มวัยอื่น กรมอนามัย จึงได้จัดทำแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ ผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) ต้องประเมินและคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ ดูแลสุขลักษณะ อาคารและสถานที่ ด้วยการทำความสะอาดจุดหรือบริเวณที่มีการใช้ร่วมกัน เน้นจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกันในห้องส้วม และจัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอย ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) และญาติ ต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว แยกสำรับ แยกของใช้ส่วนตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากพบมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้ไปพบแพทย์ทันที
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ในส่วนผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) นั้น ต้องดูแลรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือด้วยแอลกอฮอล์เจลทุกครั้ง ก่อนสัมผัสผู้สูงอายุติดเตียง และหลังปฏิบัติงาน สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย สวมถุงมือทุกครั้ง หากพบผู้สูงอายุติดเตียง มีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนเพื่อส่งรักษาต่อไป ในกรณีที่ใช้เครื่องดูดเสมหะและให้อาหารทางสายยาง ต้องมีการดูแลทำความสะอาดเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้สิ่งของและของเหลวที่เกิดจากการดูแลผู้สูงอายุควรนำไปกำจัดทันที
“ทั้งนี้ ญาติที่ดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ต้องปฏิบัติดังนี้
1) ดูแลรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนและหลังสัมผัสผู้สูงอายุติดเตียง หลีกเลี่ยงการใช้มือ สัมผัสใบหน้า แยกของใช้ส่วนตัว กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาระยะห่างจากบุคคลอื่น 1 – 2 เมตร หมั่นสังเกตตนเอง หากพบมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้พบแพทย์
2) หมั่นทำความสะอาดเตียงนอน เครื่องใช้ ราวจับ กายอุปกรณ์ ที่นอนลม อุปกรณ์ช่วยเดิน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป
3) หากสมาชิกในครอบครัวหรือญาติที่มีความเสี่ยง ให้งดเยี่ยม
4) ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด และอื่นๆ ควรจัดเตรียมยารักษาโรคให้เพียงพอภายใต้ดุลพินิจของแพทย์ และหมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง โดยวัดอุณหภูมิ หากมีการติดเชื้อแต่อาการอาจไม่ชัดเจน เช่น อาจไม่มีไข้ หรืออาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือรับอาหารทางสายยางไม่ได้ ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว ควรรีบปรึกษาแพทย์” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
………………………………………………………………