ปกติเวลาคนเราโทรแจ้งเหตุ 1669 ปัจจัยหลายอย่างทำให้การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่ มีความยากอยู่แล้ว แต่จะเป็นอย่างไรถ้าผู้ป่วยนั้น เป็นผู้พิการหูหนวก !!

วันที่ 10 มิ.ย. 63 ศูนย์นเรนทร สพฉ. ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ TTRS ว่ามีคนป่วยชักเกร็งเป็นผู้พิการหูหนวก ซึ่งญาติผู้ป่วยซึ่งเป็นคนหูหนวกเช่นเดียวกัน ได้ใช้ Application สำหรับการแจ้งเหตุฉุกเฉินติดต่อไปที่ ศูนย์ TTRS ซึ่งระบบนี้ TTRS ได้พัฒนาร่วมกับ สพฉ. โดยการทำ VDO Call คุยกัน 3 สาย เพื่อซักถามอาการฉุกเฉิน ระหว่างหว่างเจ้าหน้าศูนย์นเรนทร สพฉ. กับญาติผู้ป่วย โดยมี เจ้าหน้าที่ศูนย์ TTRS ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษามือ หลังจากซักประวัติแล้ว ศูนย์นเรนทร สพฉ. จึงโทรประสานศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร เพื่อสั่งการหน่วยกู้ชีพร่มไทรไปรับผู้ป่วย ความยากยังไม่จบคือ ห้องพักของผู้ป่วยอยู่ในอาคาร แต่ด้วยข้อจำกัดของคนหูหนวก จึงไม่สามารถบอกชื่ออาคารได้ บอกได้เพียงเลขที่ห้อง และชั้นเท่านั้น แต่งานนี้ได้ความสามารถของอาสาสมัครของกู้ชีพร่มไทรซึ่งคุ้นเคยกับพื้นที่ ในที่สุดจึงสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยและนำส่ง รพ. ได้สำเร็จ

ระบบการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน หรือคนหูหนวกนี้ เริ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2556 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน และศูนย์สั่งการ 1669 ทุกจังหวัด พัฒนารูปแบบ เครื่องมือ และองค์ความรู้เพื่อช่วยให้ผู้พิการหูหนวกสามารถเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินในช่วงความเป็นความตายของชีวิตพวกเขาได้
#EMS1669 #เพื่อทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย


กลุ่มสื่อสารองค์การ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

โทร. 081-989-1669 , 081-019-1669

วีดีโอตัวอย่าง การช่วยผู้ป่วยหูหนวก อาการชักเกร็ง และสามารถชมข้อมูลความรู้อื่นๆได้ที่

http://kmis.niems.go.th/th/business/bu_vdo.aspx?vdo=A468F1BAD690020EE053230CA8C05D41