วันที่ 9 มิถุนายน 2563 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนานำเสนอร่างผลการศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางการพัฒนาต้นแบบระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์ ด้วยเทคโนโลยี Blockchain พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบ TraceThai.com และทดลองใช้งานกับกลุ่มนำร่องตลอดห่วงโซ่อุปทานข้าวอินทรีย์
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร กล่าวถึงที่มาโครงการว่าเป็นแรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์นำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาภาคการเกษตรของไทยมาโดยตลอด โครงการนี้จึงเป็นการเดินตามรอยพ่อหลวง ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ Blockchain เข้ามาช่วยพัฒนาภาคการเกษตรของไทย เนื่องจาก Blockchain ช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าเป็นข้อมูลถูกต้องและไม่สามารถแก้ไขได้ สามารถกำหนดลำดับชั้นของข้อมูลว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณะหรือเปิดเผยเฉพาะคู่ค้า ทำให้สามารถรักษาความลับทางการค้าและข้อมูลส่วนบุคคลได้ รวมทั้งเป็นการทำงานด้วยระบบดิจิทัลทำให้ลดงานด้านเอกสารแบบดั้งเดิม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยสนค. จึงริเริ่มโครงการศึกษาและพัฒนาระบบต้นแบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ นำร่องด้วยข้าวอินทรีย์ เพราะมีมูลค่าสูง มีศักยภาพส่งออก มีขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานที่ชัดเจน คุ้มค่าในการพัฒนาระบบ โดยเฉพาะโลกหลังโควิดการตรวจสอบย้อนกลับจะยิ่งทวีความสำคัญ โดยเฉพาะ สินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ โดยที่ผ่านมาสินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีศักยภาพและเป็นสินค้าดาวรุ่ง และเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้จะยิ่งเป็นดาวรุ่งมากขึ้นหากมีการยกระดับมาตรฐานและมีระบบตรวจสอบย้อนกลับรองรับเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าและผู้บริโภค ซึ่ง Blockchain จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร นำไปสู่ Trust Economy และหลังจากนำร่องด้วยข้าวอินทรีย์แล้ว จะขยายผลสู่สินค้าเกษตรและอาหารอื่นๆ รวมทั้งต่อยอดพัฒนาระบบการค้าที่เกี่ยวข้องโดยหวังว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาภาคเกษตรไทยให้เข้มเข็ง ทำให้ประเทศไทยเข้มเข็ง สำหรับระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ นำร่องข้าวอินทรีย์นี้ ได้จดชื่อเว็บไซต์ www.TraceThai.com เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการนี้มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการศึกษา ประชุมหารือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งลงพื้นที่เก็บข้อมูลรับฟังความคิดเห็น รวมถึงออกแบบและพัฒนาระบบเบื้องต้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในงานสัมมนาวันนี้ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ร่วมกันทำความฝันครั้งนี้ให้เป็นจริง..ไปด้วยกัน
สำหรับการนำเสนอผลการศึกษาการรับรองมาตรฐานและโอกาสทางการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย โดย ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการทำเกษตรอินทรีย์ว่าจะมีการรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานรับรอง (CB: Certified Body) อาทิ มาตรฐาน IFOAM, USDA Organic, EU Organic, Organic Thailand และอีกรูปแบบคือการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS : Participatory Guarantee System) ที่กลุ่มเกษตรกรรับรองกันเอง โดยกระบวนการเพาะปลูกและผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานอินทรีย์ทุกขั้นตอน โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตข้าวอินทรีย์และมีโอกาสทางการค้าสูงมากโดยเฉพาะการส่งออก ดังนั้นหากสามารถพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์ไทย เพื่อให้ผู้บริโภค คู่ค้า และตลาดต่างประเทศเกิดความมั่นใจจะเป็นอีกทางหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยได้อย่างแน่นอน
สำหรับการนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาต้นแบบระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย โดย ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกตัวอย่างการใช้ Blockchain ตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์ของกัมพูชา และ
อีกตัวอย่างเป็นการตรวจสอบย้อนกลับปลาทูน่ากระป๋องของบริษัทเอกชน ซึ่ง ศ.ดร. อาณัติ กล่าวว่าแนวคิดการออกแบบระบบตรวจสอบย้อนกลับในโครงการนี้จะยึดหลักความถูกต้องของข้อมูล (Integrity) และ ประสิทธิภาพ (Efficiency) เป็นสำคัญ เพื่อออกแบบระบบให้มีความเหมาะสมต่อไป โดยงานสัมมนาวันนี้ได้นำเสนอต้นแบบระบบ
ต้นแบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์ โดยนายชัยโย เตโชนิมิต นักพัฒนาระบบและผู้เชี่ยวชาญบล็อกเชน ซึ่งกล่าวถึงหลักการทำงานของระบบว่าเป็นการบันทึกข้อมูลตามกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีการจัดเก็บข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมี CB เป็นผู้ยืนยันความถูกต้อง รวมถึงออกแบบระบบให้รักษาความลับทางการค้าและกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลได้ รวมทั้งมีการควบคุมปริมาณผลผลิตรวม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเป็นข้าวอินทรีย์ที่ผลิตได้จริง
โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นว่าโครงการนี้ตอบโจทย์เกษตรกรและผู้ประกอบการ เพราะตอบสนองความต้องการตลาดโลกยุคใหม่ ด้วยระบบและเทคโนโลยี Blockchain ช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยขยายตัวมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมสัมมนาทั้งที่โรงแรมและผ่านระบบออนไลน์ อาทิ 1) วิธีการยืนยันตัวตนของผู้กรอกข้อมูลในระบบ เพื่อความน่าเชื่อถือ ในระยะแรกอาจเริ่มจากกลุ่มนำร่องที่น่าเชื่อถือ และขยายผลไปยังคู่ค้าของกลุ่มนำร่อง โดยการรับรองจากกลุ่มนำร่องเดิม และควรศึกษามาตรฐานการยืนยันตัวตนที่เป็นสากล รวมถึงออกแบบระบบโดยคำนึงถึงเกษตรกรรายย่อยด้วย 2) ระบบควรรองรับมาตรฐาน PSG ที่เกษตรกรรับรองกันเองด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการในประเทศ ก่อนยกระดับมาตรฐานอินทรีย์ที่สูงขึ้นต่อไป (3) ระดับการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะใบรับรองเกษตรอินทรีย์ ได้รับข้อคิดเห็นว่าควรกำหนดสิทธิดูข้อมูลเฉพาะคู่ค้าที่ได้รับอนุญาต และแสดงเฉพาะเลขที่ใบรับรองเพื่อให้ผู้บริโภคทั่วไปตรวจสอบ เพื่อป้องกันการนำรูปไปปลอมแปลงหรือนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังได้รับข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เช่น ควรมีแรงจูงใจในการบันทึกข้อมูลลงระบบ ควรเชื่อมโยงไปสู่ระบบ Farm Management และการควบคุมภายในของเกษตรกร (ICS : Internal Control System) เพื่อข้อมูลที่ถูกต้องก่อนบันทึกเข้าระบบ ควรบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่แล้วร่วมกัน เป็นต้น ซึ่ง สนค. และที่ปรึกษาโครงการจะนำข้อคิดเห็นเหล่านี้ไปปรับปรุงและพัฒนาระบบ ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จพร้อมทดลองใช้งานช่วงปลายปี 2563
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์
11 มิถุนายน 2563