วันที่ 10 มิ.ย. 63 ที่ห้องประชุม ชั้น 9 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในระดับรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา สมัยพิเศษ ว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน (Special Online ASEAN Ministerial Meeting on Social Welfare and Development (AMMSWD) on Mitigating Impacts of COVID-19 on Vulnerable Groups in ASEAN) ในรูปแบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ทั้งนี้ การประชุมทางออนไลน์ดังกล่าว จัดโดยกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วยรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (AMMSWD Ministers) หัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา และคณะผู้แทน จากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีระเบียบวาระสำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับความร่วมมือในการบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน
นายจุติ กล่าวว่า ตนได้ร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วม สำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน (Joint Statement of the ASEAN Ministerial Meeting on Social Welfare and Development on Mitigating Impacts of COVID-19 on Vulnerable Groups in ASEAN) ซึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ในการตระหนักถึงความร้ายแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ คนยากไร้ กลุ่มคนชายขอบในสังคม โดยให้คำมั่นว่าจะดำเนินการและผลักดันในประเด็นต่อไปนี้ 1) สร้างหลักประกันการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม ด้วยการจัดสรรงบประมาณภาครัฐที่เพียงพอ 2) ปกป้องสิทธิ ความปลอดภัย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3) สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและความปลอดภัยให้นักสังคมสงเคราะห์ 4) เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับชาติและความร่วมมือระหว่างสาขาในระดับอาเซียน 5) มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการฟื้นฟูเยียวยาภายหลังการสิ้นสุดของการแพร่ระบาด แบบบูรณาการและครอบคลุม 6) ยึดมั่นที่จะพัฒนาแผนงาน และมาตรการต่อเนื่องที่ผนวกรวมประเด็นคนพิการ คำนึงถึงมิติชายหญิง ตระหนักถึงมิติด้านอายุ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็ก และ 7) ยกระดับเทคโนโลยีและตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดการประเด็นเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล ทั้งภายในและระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ในการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องและการลดผลกระทบจากโรคระบาดต่อกลุ่มเปราะบาง
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการของรัฐบาลไทย และกระทรวง พม. ในการช่วยเหลือและเยียวยากลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ดังนี้
1. มาตรการด้านการเงิน รวมถึงการจ่ายเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง การจ่ายเงินเยียวยาให้กับคนพิการทุกคนที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ การพักชำระหนี้เงินกู้เพื่อการประกอบอาชีพสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นระยะเวลา 1 ปี การพักชำระหนี้ที่อยู่อาศัย ระยะเวลา 3 เดือน โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และการลดดอกเบี้ยการรับจำนำของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) จากร้อยละ 0.5 เหลือร้อยละ 0.125 ต่อเดือน
2. มาตรการช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย ได้แก่ การให้ที่พักอาศัยและอาหารฟรีสำหรับคนไร้บ้าน และการประกาศนโยบายให้สถานสงเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวง พม. เป็นพื้นที่ปลอดการติดเชื้อ COVID-19
3. มาตรการเชิงรุก (Outreach Schemes) รวมถึงการดำเนินโครงการ พม. “เราไม่ทิ้งกัน” “MSDHS Leaves No One Behind” ตามแนวคิด “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน” “All Vulnerable Groups in Communities are Accounted for with Por Mor’s Initiative” โดยลงพื้นที่สำรวจชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 286 ชุมชน เพื่อให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแนะนำ แก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชน การจัดทำหลักสูตรอาชีพระยะสั้น Online เผยแพร่ผ่าน YouTube และการให้คำปรึกษาและบริการส่งต่อผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรีตลอด 24 ชม.
และ 4. มาตรการความร่วมมือทางสังคม (Social Solidarity Schemes) ซึ่งรวมถึงโครงการ PPP โดยร่วมกับรัฐสภาไทย กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และกลุ่มบริษัทบันลือกรุ๊ป ผลิตหนังสือการ์ตูน “KnowCovid” เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อโรค ผ่านสื่อการ์ตูนที่เข้าใจง่าย การร่วมมือกับภาคีต่างๆ ในการผลิตและส่งมอบหน้ากากผ้า Face Shields และเจลล้างมือ สำหรับหน่วยงานและประชาชน
………………………………………………………………………………………………………………………………………………