ปฏิบัติการรวมพลังสู้โควิด-19 ระยะยาว วางหมากระดับจังหวัด-หนุนฟื้นฟูทั่วถึง

สช. ระดมภาคียุทธศาสตร์เดินหน้าระยะสอง “ปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” มุ่งสร้างเวทีระดับจังหวัด หนุนภาคประชาชนจับมือรัฐฟื้นฟูคุณภาพชีวิตประชาชน

นับเป็นภารกิจความร่วมมือที่ลุล่วงไปแล้วในระยะแรกกับปฏิบัติการ “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จับมือกับหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ รวม 26 องค์กร หนุนเสริมมาตรการของรัฐในการป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ระยะเวลาราว 3 เดือน ตั้งแต่มีนาคม – พฤษภาคม ภาพของกระบวนการมีส่วนร่วมได้สร้างให้เกิดข้อตกลงร่วม ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และประชาชน ได้ขยายวงไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กำหนดเป็นมาตรการแต่ละระดับที่ช่วยป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาด จนสถานการณ์ในประเทศค่อยๆ เบาบางลง

มาวันนี้ แม้วิกฤตการณ์ของโรคเริ่มคลี่คลาย แต่ได้ทิ้งไว้ซึ่งบาดแผลจากผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงคุณภาพชีวิตผู้คนในด้านต่างๆ จึงเป็นเวลาที่ปฏิบัติการนี้จะเดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 2 เพื่อฟื้นฟูสิ่งต่างๆ ให้กลับคืนมา ด้วยเป้าหมายร่วมคือ ให้พื้นที่มีความเข้มแข็งจัดการตนเอง และประชาชนมีสุขภาวะที่ดี

การประชุมปฏิบัติการ รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นวาระที่ภาคียุทธศาสตร์มาร่วมกันนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนและหารือถึงสิ่งที่จะถูกดำเนินการต่อไป เป็นทิศทางและแผนในการขับเคลื่อนร่วมกัน

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้เกิดตัวอย่างการดำเนินงานที่ดีหลายอย่างขึ้น จากระบบรากฐานของทางการที่เข้มแข็ง ผนวกกับมาตรการภาคประชาชนที่เข้ามาหนุนช่วย ทำให้คนไทยสามารถเปลี่ยนผ่านพฤติกรรมสู่การป้องกันตัวเองได้ดีมาก

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มของสถานการณ์โรคจะค่อนข้างดีขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาในระยะถัดไปคือ ผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมืองต่างๆ ซึ่งรัฐบาลกำลังเตรียมมาตรการฟื้นฟูด้วยการจัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่กว่า 4 แสนล้านบาท โดยเป็นในด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท

“จากมาตรการของรัฐและประชาชนที่ผ่านมาได้จับมือกันทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งในระยะที่สองหลังจากนี้รัฐมีมาตรการฟื้นฟูแล้ว ถ้าเราต่อยอดการช่วยกันคิดช่วยกันทำ ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ก็จะทำให้แผนฟื้นฟูประเทศ เป็นไปตามเป้าหมายที่มุ่งหวังและออกจากวิกฤติร่วมกันได้” นพ.ประทีป ให้ทิศทาง

นพ.ประทีป กล่าวด้วยว่าในส่วนของ สช. ได้มีความพยายามผลักดันในสามเรื่อง เรื่องแรกคือการต่อยอดมาตรการภาคประชาชนที่ทำอยู่ในระดับตำบล ผสานเข้าสู่กลไกของหน่วยงานท้องถิ่นในระยะยาว ถัดมาคือการขยับขึ้นมาสู่ระดับจังหวัด ในการเป็นจุดยุทธศาสตร์เพื่อวางมาตรการฟื้นฟู และสุดท้ายคือการจับมือกับหน่วยงานด้านแผน เพื่อพัฒนาข้อเสนอนโยบายในระยะยาวในการพาประเทศไทยออกจากวิกฤติ

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำเสนอถึงภาพรวมการดำเนินงานหลายพื้นที่ ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากเป้าหมายหลักในเรื่องของสุขภาพ มาสู่เรื่องเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ซึ่งกระบวนการปรึกษาหารือและสร้างข้อตกลงร่วมนั้นยังเป็นส่วนสำคัญของการทำงาน

จากนั้น หน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ต่างๆ จึงได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนในผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตลอดจนสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่กำลังเตรียมแผนในการเชื่อมโยงภาคประชาชน เข้ามาร่วมมีบทบาทในการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านโครงการที่นำไปสู่การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ สร้างที่อยู่อาศัย สร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชน

ขณะที่ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ได้มีโครงการที่ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง รวมถึงเด็กปฐมวัย โดยการมีอาสาสมัครในแต่ละท้องถิ่นดูแล เช่นเดียวกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มุ่งเป้าการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ไร้ที่พึ่ง พร้อมกับการสร้างแนวทางให้ท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากกองทุน เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นร่วมกันถึงทิศทางของการทำงานในระยะสอง ที่จะสร้างเวทีการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดให้เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งทุกภาคส่วนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบมาตรการ กระบวนการจัดการ สอดคล้องกับแผนงานของภาครัฐที่จะขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อประสานให้เกิดปฏิบัติการร่วมที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนที่ได้ผลต่อไป