เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมคณะ เข้าพบ นาย มโย-มยิน-ตาน (H.E. U Myo Myint Than) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ณ สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย โดย นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้กล่าวภายหลังการหารือเสร็จสิ้น ว่า ในแนวทางการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 นั้น ประสงค์ให้แรงงานเมียนมาที่ยังคงอยู่ในประเทศไทยสามารถทำงานได้ต่อไปโดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ เพื่อป้องกันและลดความสุ่มเสี่ยง การแพร่ระบาดของโรค รวมทั้ง ประหยัดค่าใช้จ่าย และ ลดความวิตกกังวลการขาดแคลนแรงงานของนายจ้างและสถานประกอบการที่ยังมีความจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากรเห็นชอบในหลักการเบื้องต้น และ จะมีการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องผ่านระบบ Conference ต่อไป
“ได้รับแจ้งว่า ปัจจุบันมีแรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศต้นทาง ประมาณวันละ 1,500 คน โดยมีเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่สถานประกอบการปิดกิจการ และไม่สามารถหานายจ้างรายรายใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งกรณีดังกล่าวฝ่ายไทยพร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกกรณีที่แรงงานเมียนมาที่ต้องการการจ้างงาน ซึ่งกรมการจัดหางานจะดำเนินการให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ในการเดินทางกลับเข้าประเทศของแรงงานเมียนมา นั้น มาตรการต่างๆจะอยู่ภายใต้การพิจารณาของ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 ” ซึ่งเป็นหน่วยที่พิจารณาการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและยังยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งรวมถึงมาตราการเดินทางเข้าประเทศไทยของคนต่างชาติและแรงงานต่างด้าว ” นายสุชาติฯ กล่าว
นายสุชาติ กล่าวในตอนท้ายว่า ด้านฝ่ายเมียนมา ได้ขอบคุณกระทรวงแรงงานที่ช่วย ดูแลแรงงานเมียนมา อย่างไรก็ดี ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างกันเป็นรูปธรรมมากขึ้น สังเกตได้จากผลสำเร็จของการนำเข้า MOU และการดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ รัฐบาลไทย และรัฐบาลเมียนมา จะร่วมมือกันเพื่อให้แนวทางการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย
สำหรับ ผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มีแรงงานมาดำเนินการกว่า 1.26 ล้านราย เป็นแรงงานเมียนมาประมาณ 1 ล้านราย ในจำนวน 1.26 ล้านราย ได้ดำเนินเสร็จสิ้นแล้ว 7.1แสนราย ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 5.5 แสนราย ได้รับการผ่อนปรนตามมติคณะรัฐมนตรีให้อยู่และทำงานได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 สำหรับแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานตาม MoU ที่ครบ 4 ปี และ ที่เข้าทำงานบริเวณชายแดน จะได้รับการผ่อนปรนตามมติคณะรัฐมนตรีให้อยู่และทำงานได้ต่อไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563